ลิ้งค์เชื่อมต่อ

หลายประเทศเร่งเครื่องรับมือโควิดพุ่งสูง - อนามัยโลก ย้ำ วัคซีนโควิดสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ไม่ทันในปีนี้


Health workers test a rescue worker for the Covid-19 coronavirus at the port in Jakarta on January 10, 2021, as part of the ongoing search operation for Sriwijaya Air flight SJY182 which crashed after takeoff from Jakarta on January 9. (Photo by Dany Kris
Health workers test a rescue worker for the Covid-19 coronavirus at the port in Jakarta on January 10, 2021, as part of the ongoing search operation for Sriwijaya Air flight SJY182 which crashed after takeoff from Jakarta on January 9. (Photo by Dany Kris

หลายประเทศเร่งเครื่องสกัดกั้นการระบาดของโควิด-19 ขณะที่อนามัยโลก ย้ำโครงการแจกจ่ายวัคซีนโควิด-19 ที่ดำเนินการอยู่ทั่วโลกในตอนนี้ อาจไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) ได้ทันในปีนี้

หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ประจำองค์การอนามัยโลก โสมญา สวามินาธาน (Soumya Swaminathan) กล่าวเมื่อวันจันทร์ว่า อาจต้องใช้เวลาและวัคซีนในจำนวนที่เพียงพอต่อการยับยั้งการระบาดของโควิด-19 และว่าหลายประเทศยังคงต้องบังคับใช้มาตรการอื่นๆควบคู่ไปด้วย ทั้งการสวมหน้ากาก รักษาระยะห่างทางสังคม และการล้างมือ

ขณะที่ในทางบริษัทโมเดอร์นา หนึ่งในผู้ผลิตและพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ที่ได้รับอนุมัติการใช้ในหลายประเทศ ระบุว่า วัคซีนโควิดของบริษัทสามารถสร้างภูมิคุ้มกันโรคได้อย่างน้อย 1 ปี และมั่นใจว่าวัคซีนมีประสิทธิผลกับโควิดกลายพันธุ์ ตามรายงานของรอยเตอร์

จีนไฟเขียวอนามัยโลกส่งทีมสืบต้นตอโควิด-19

ทางการจีนอนุญาตให้ทีมสืบค้นต้นตอโควิด-19 ราว 10 ชีวิตของอนามัยโลก เดินทางมายังเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ภายในสัปดาห์นี้ โดยคาดว่าจะเดินทางจากสิงคโปร์ไปยังเมืองอู่ฮั่นได้ในวันพฤหัสบดี พร้อมกันนี้ ยังตอบโต้คำวิจารณ์ของผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก เทดรอส อัดนอม เกเบรเยซุส ที่ออกมาแสดงความผิดหวังกับทางการจีนในเรื่องนี้ว่า ความล่าช้าในการอนุมัติให้ทีมวิจัยของอนามัยโลกเข้าประเทศ เป็นเพียงเรื่องเข้าใจผิดกันเท่านั้น

ด้านดร.ไมค์ ไรอัน หัวหน้าโครงการฉุกเฉินของอนามัยโลก กล่าวว่า อนามัยโลกต้องการเข้าไปค้นหาคำตอบของการระบาดของโควิด-19 ซึ่งจะช่วยในการป้องกันภาวะการระบาดใหญ่ในอนาคต ไม่ได้เป็นการหาฝ่ายรับผิดชอบในเรื่องนี้แต่อย่างใด

อินโดนีเซีย เริ่มต้นโครงการวัคซีน หลังยอดเสียชีวิตพุ่งสูง

อินโดนีเซีย เริ่มโครงการแจกจ่ายวัคซีนครั้งใหญ่ในวันพุธตามเวลาท้องถิ่น โดยมีประธานาธิบดีโจโค วิโดโด เข้ารับวัคซีนเข็มแรก หลังจากที่ยอดเสียชีวิตพุ่งสูงในประเทศขณะนี้ เฉพาะวันอังคารมีผู้เสียชีวิต 302 ราย และยอดเสียชีวิตสะสมเกือบ 25,000 รายทั่วประเทศ ส่วนยอดติดเชื้อสะสมเกือบ 850,000 ราย

ทางการตั้งเป้าฉีดวัคซีนให้ประชาชนราว 181.5 ล้านคน โดยกลุ่มแรกซึ่งรวมถึงประธานาธิบดีอินโดนีเซีย และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเกือบ 1.5 ล้านคน จะได้รับวัคซีน CoronaVac จากบริษัท Sinovac Biotech ของจีน ซึ่งเพิ่งได้รับการอนุมัติการใช้เมื่อวันจันทร์ โดยมีประสิทธิผลราว 65.3% ตามมาด้วยข้าราชการ และประชาชนทั่วไป จะได้วัคซีนภายในระยะ 15 เดือนหลังจากเดือนกุมภาพันธ์นี้

ตอนนี้อินโดนีเซียสั่งซื้อวัคซีนโควิด-19 รวมเกือบ 330 ล้านโดส ทั้งจากบริษัท Sinovac Biotech แอสตราเซเนกา และจากบริษัทไฟเซอร์และไบโอเอ็นเทค ขณะที่รัฐมนตรีสาธารณสุขอินโดนีเซีย ระบุว่าต้องการวัคซีนราว 2 ใน 3 จากประชากร 270 ล้านคน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในประเทศ

มาเลเซียประกาศภาวะฉุกเฉินรับมือยอดติดเชื้อพุ่ง

มาเลเซียประกาศภาวะฉุกเฉิน เพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-19 ในประเทศ เมื่อวันอังคาร จากที่ผู้ติดเชื้อสะสมทะลุ 138,000 คน โดยเป็นผู้ติดเชื้อใหม่กว่า 2,000 รายในช่วงสัปดาห์นี้ และมีผู้เสียชีวิต 555 คน

ส่วนสถานการณ์ทั่วโลก ตามข้อมูลของมหาวิทยาลัยจอนส์ ฮอพกินส์ ระบุว่า มีผู้ติดเชื้อกว่า 91 ล้านราย เสียชีวิตกว่า 1.9 ล้านราย เมื่อบ่ายวันอังคารตามเวลาสหรัฐฯ

XS
SM
MD
LG