ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ทฤษฎีสมคบคิดบั่นทอนความเชื่อมั่นวัคซีนต้านโควิด-19 ในยุโรปตะวันออก


Prime Minister of Serbia Ana Brnabic receives the Pfizer COVID-19 vaccine at the Institute of Virology, Vaccines and Sera in Belgrade, Serbia December 24, 2020. REUTERS
Prime Minister of Serbia Ana Brnabic receives the Pfizer COVID-19 vaccine at the Institute of Virology, Vaccines and Sera in Belgrade, Serbia December 24, 2020. REUTERS
Eastern European Vaccine
please wait

No media source currently available

0:00 0:05:09 0:00


หลายประเทศในยุโรปตะวันออกเฉียงใต้ กำลังประสบปัญหาที่ประชากรในประเทศต่อต้านการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 อันเกิดจากความคลางแคลงใจ การเชื่อในทฤษฎีสมคบคิด และข้อมูลผิด ๆ ในขณะที่หลายประเทศเกิดความขัดแย้งภายในว่าจะใช้วัคซีนของใคร ระหว่างรัสเซีย จีน หรือประเทศตะวันตก

การกระจายของข้อมูลและความเชื่อที่ผิด ๆ ในประเทศที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปยุโรป เช่น สาธารณรัฐเชค เซอร์เบีย บอสเนีย โรมาเนีย และบัลแกเรีย ทำให้เกิดการแตกแยกทางความคิดในกลุ่มพลเมืองของแต่ละประเทศว่าพวกเขาควรจะรับวัคซีนโควิด-19 หรือไม่

กลุ่มผู้ที่สงสัยหรือคลางแคลงใจในวัคซีนต้านโควิด-19 เหล่านี้ ไม่ได้มีแต่ประชาชนคนทั่วไปเท่านั้น แต่ยังรวมถึงผู้ที่มีหน้ามีตาในสังคม เช่น อดีตประธานาธิบดี แพทย์ และนักเทนนิสระดับโลก

รายงานจากประเทศบนคาบสมุทรบอลข่านฉบับหนึ่งเตือนว่า ความสงสัยไม่เชื่อในวัคซีนโควิด-19 เชื่อมโยงโดยตรงกับทฤษฎีสมคบคิดต่าง ๆ ทำให้ผู้คนส่วนใหญ่ในภูมิภาคนี้ไม่มีแผนที่จะเข้ารับวัคซีน และจำนวนผู้ที่จะฉีดวัคซีนนั้นคิดเป็นอัตราส่วนที่ต่ำกว่าภูมิภาคอื่นๆ ในยุโรป

Medical workers receive the first shipment of Pfizer-BioNTech COVID-19 vaccines in Belgrade, Serbia, December 22, 2020. REUTERS
Medical workers receive the first shipment of Pfizer-BioNTech COVID-19 vaccines in Belgrade, Serbia, December 22, 2020. REUTERS

ในประเทศเซอร์เบีย ซึ่งมีประชากร 7 ล้านคน มีเพียง 200,000 คนเท่านั้นที่ลงชื่อขอรับวัคซีนในวันแรก ๆ ในทางตรงกันข้าม มีชาวเซอร์เบียมากถึง 1 ล้านคนที่ลงชื่อขอรับเงินช่วยเหลือบรรเทาทุกข์โควิด-19 จากรัฐบาลจำนวน 100 ยูโรหรือประมาณ 3,600 บาทในวันแรกที่เปิดให้มีการลงชื่อ

เซอร์เบียได้จัดให้มีการถ่ายทอดการฉีดวัคซีนให้กับเจ้าหน้าที่รัฐผ่านทางโทรทัศน์ เพื่อสร้างความมั่นใจต่อวัคซีน แต่แม้แต่ผู้ที่ต้องการรับวัคซีนในกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออก ซึ่งเคยอยู่ภายใต้อิทธิพลของสหภาพโซเวียต ก็ยังเห็นไม่ตรงกันว่า พวกเขาต้องการวัคซีนตัวใด ระหว่างวัคซีนชาติตะวันตกของบริษัท ไฟเซอร์ที่ผลิตร่วมกับไบโอเอ็นเทค วัคซีน สปุตนิค 5 (Sputnik V) ของรัสเซีย หรือของจีน

ในวันเสาร์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีของเซอร์เบีย อเล็กซานเดอร์ บูจิช (Aleksandar Vucic) รับมอบวัคซีนซิโนฟาร์มจากประเทศจีนจำนวน 1 ล้านโดส และกล่าวว่าเขาจะเข้ารับการฉีดวัคซีนจากซิโนฟาร์ม เพื่อแสดงให้เห็นว่าเป็นวัคซีนที่ปลอดภัย

Serbian President Aleksandar Vucic is seen upon the arrival of one million doses of Sinopharm's China National Biotec Group (CNBG) vaccines for the coronavirus disease (COVID-19) on January 16, 2021. REUTERS/Marko Djurica
Serbian President Aleksandar Vucic is seen upon the arrival of one million doses of Sinopharm's China National Biotec Group (CNBG) vaccines for the coronavirus disease (COVID-19) on January 16, 2021. REUTERS/Marko Djurica

หนังสือพิมพ์ Informer ซึ่งเป็นสื่อที่สนับสนุนรัฐบาลเซอร์เบีย พาดหัวข่าวเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่าชาวเซิร์บนิยมวัคซีนจากรัสเซียมากกว่าจากประเทศอื่น โดยคิดเป็นร้อยละ 38 ของคนที่แสดงความจำนงขอรับวัคซีน ในขณะที่ร้อยละ 31 ต้องการวัคซีนของไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค ซึ่งสะท้อนให้เห็นการแตกแยกของคนในเซอร์เบียที่บางส่วนยังนิยมรัสเซีย ในขณะที่บางส่วนนิยมประเทศตะวันตก

ส่วนในประเทศใกล้เคียงอย่างบอสเนีย ซึ่งผ่านสงครามความขัดแย้งชาติพันธุ์ระหว่างชาวโครแอต ชาวเซิร์บ และชาวบอสนีแอก ความเห็นต่างทางการเมืองเป็นปัจจัยหนึ่งต่อการเลือกรับวัคซีน โดยชาวเซิร์บ ที่มีประมาณครึ่งหนึ่งของประเทศ เลือกวัคซีนจากรัสเซีย ในขณะที่ชาวบอสนีแอก และโครแอต มีแนวโน้มว่าจะรับวัคซีนของชาติตะวันตก

การศึกษาในประเทศคาบสมุทรบอลข่านโดยกลุ่มที่ปรึกษาด้านนโยบายของยุโรป ที่ได้รับการตีพิมพ์ไปเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา พบว่าประมาณร้อยละ 80 ของประชากรในกลุ่มประเทศคาบสมุทรบอลข่านตะวันตกเชื่อในทฤษฎีสมคบคิด และประมาณครึ่งหนึ่งจะปฏิเสธไม่ยอมรับวัคซีน

ทฤษฎีสมคบคิดเหล่านี้อ้างว่าโคโรนาไวรัสนั้นไม่มีอยู่จริง และเป็นอาวุธทางชีวภาพที่ผลิตขึ้นมาโดยสหรัฐอเมริกา หรือประเทศคู่อริของสหรัฐฯ นอกจากนี้ยังมีคนเชื่อกันอย่างผิด ๆ ว่านาย บิล เกตส์ ผู้ก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟท์ จะใช้วัคซีนโควิด-19 เป็นเครื่องมือในการฉีดไมโครชิพเข้าไปในประชากร 7 พันล้านคนทั่วโลก

A medical worker takes a swab sample to test for the coronavirus disease (COVID-19) at The Institute of Virology, Vaccines and Sera "Torlak" in Belgrade, Serbia, December 22, 2020. REUTERS/Marko Djurica
A medical worker takes a swab sample to test for the coronavirus disease (COVID-19) at The Institute of Virology, Vaccines and Sera "Torlak" in Belgrade, Serbia, December 22, 2020. REUTERS/Marko Djurica

นายซาซ่า มิโลวาโนวิช นายหน้าที่ดินวัย 57 ปีผู้อาศัยอยู่ในกรุงเบลเกรด เมืองหลวงของเซอร์เบีย ให้สัมภาษณ์กับ Associated Press ว่าวัคซีนทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งของ “กระบวนการชักใยระดับโลก” ในช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด-19 เขามองว่า กระบวนการนี้กักขังผู้คนไว้ในบ้าน ไม่ให้ใช้ชีวิตตามปกติ และยังทำให้ทุกคนตกอยู่ในภาวะเป็นประสาทหวาดผวาอีกด้วย

ด้านนักเทนนิสมือวางอันดับหนึ่งของโลก โนวัค ยอโควิช (Novak Djokovic) เคยบอกว่าเขาไม่เห็นด้วยกับการถูกบังคับให้รับการฉีดวัคซีน เพื่อให้สามารถเดินทางไปแข่งเทนนิสตามสนามแข่งต่าง ๆ ได้ แต่ขณะเดียวกันเขาก็จะพยายามเปิดใจ

ยอโควิชและภรรยาของเขาติดโควิด-19 เมื่อเดือนมิถุนายนในปีที่ผ่านมา หลังจากเดินทางไปแข่งเทนนิสในกลุ่มประเทศบอลข่าน โดยไม่มีการรักษาระยะห่างระหว่างสังคม หลังจากนั้นเขาและภรรยาได้บริจาคเงิน 1 ล้านยูโร หรือประมาณ 36 ล้านบาท เพื่อซื้อเครื่องช่วยหายใจและอุปกรณ์การแพทย์อื่น ๆ ให้โรงพยาบาลในประเทศเซอร์เบีย

ส่วนในประเทศบัลแกเรีย การแพร่หลายของทฤษฎีสมคบคิด เคยเป็นอุปสรรคต่อความพยายามในอดีตที่จะควบคุมการระบาดของโรคหัดเยอรมัน การสำรวจหลายชิ้นระบุว่าความคลางแคลงใจในวัคซีนยังมีอยู่สูง ถึงแม้ว่าจำนวนผู้ติดโควิด-19 จะเพิ่มมากขึ้นก็ตาม โดยผลสำรวจของแกลลัป อินเตอร์เนชันแนล พบว่ามีผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 46 ที่จะไม่ฉีดวัคซีน และร้อยละ 24 ยังไม่ได้ตัดสินใจ

A demonstrator gestures as she attends a protest against the Czech government's restrictions, as the spread of the coronavirus disease (COVID-19) continues, at the Old Town Square in Prague, Czech Republic January 10, 2021. REUTERS/David W Cerny
A demonstrator gestures as she attends a protest against the Czech government's restrictions, as the spread of the coronavirus disease (COVID-19) continues, at the Old Town Square in Prague, Czech Republic January 10, 2021. REUTERS/David W Cerny

ที่สาธารณรัฐเชค คาดว่ามีผู้คนประมาณร้อยละ 40 ที่จะไม่รับวัคซีนโควิด-19 นอกจากนี้ยังมีการเดินขบวนประท้วงใหญ่เพื่อต่อต้านมาตรการควบคุมโควิด-19 ในกรุงปราก เมืองหลวงของประเทศ และเรียกร้องไม่ให้รัฐบังคับประชาชนให้ฉีดวัคซีน ส่วนอดีตประธานาธิบดีของสาธารณรัฐเชค อย่าง วาคลาฟ เคลาส์ (Vaclav Klaus) ซึ่งเป็นผู้ที่คอยวิพากษ์วิจารณ์การรับมือโควิด-19 ของรัฐบาล ได้บอกกับผู้ชุมนุมว่าวัคซีนไม่ใช่ทางออกของปัญหา และยังบอกว่าผู้คนต้องได้สัมผัสกับไวรัสเพื่อให้สังคมมีการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ซึ่งเป็นแนวคิดที่ผู้เชี่ยวชาญโควิด-19 ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง

ส่วนในฮังการี รัฐบาลได้ใช้ไม้แข็งกับผู้ที่เผยแพร่ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับไวรัส ที่ทำให้เกิดความกลัวและหวาดระแวง และเป็นอุปสรรคต่อความพยายามควบคุมโควิด-19 ของรัฐบาล อย่างไรก็ตาม ยังมีการคาดว่าจะมีประชากรที่จะไม่รับวัคซีนถึงร้อยละ 30

ในโรมาเนีย กระทรวงสาธารณสุขหันไปพึ่ง้แพทย์ในชุมชนให้เป็นผู้ทำหน้าที่ให้ความรู้ และจัดตารางให้ผู้คนเข้ามารับวัคซีน พร้อมกับตรวจสอบอาการหลังจากนั้น และยังมีการแจกโบนัสให้กับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขโดยวัดจากจำนวนผู้ที่เข้ารับการฉีดวัคซีน

งานศึกษาในกลุ่มประเทศเหล่านี้พบว่า ความเชื่อผิด ๆ เหล่านี้ เป็นผลมาจากการเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนและโคโรนาไวรัสที่อยู่ในระดับต่ำ ความไม่เชื่อมั่นในรัฐบาล และการที่มีเจ้าหน้าที่รัฐบาลบางคนอ้างว่าไวรัสและวัคซีนเป็นเครื่องมือของชาวต่างชาติที่จะยึดครองประเทศของตน

เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในหลายประเทศเห็นว่า ผู้คนที่อยู่อาศัยในชนบทมักจะเชื่อในทฤษฎีสมคบคิด และนั่นเป็นเหตุผล ที่ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐต้องพูดคุยและอธิบายให้สังคมเข้าใจว่า วัคซีนเป็นทางออกเดียวที่จะเอาชนะการระบาดของโควิด-19

XS
SM
MD
LG