สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เริ่มกระบวนการอภิปรายเพื่อลงมติว่าจะยื่นถอดถอนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นครั้งที่สองหรือไม่ สืบเนื่องจากเหตุการณ์จลาจลที่รัฐสภาสหรัฐฯ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
แม้พรรคเดโมแครตเป็นฝ่ายครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรและสามารถลงมติรับรองการถอดถอนผู้นำสหรัฐฯ คนปัจจุบันได้ทันที แต่ก็มีสมาชิกพรรครีพับลิกันหลายคนที่รับปากว่าจะเข้าร่วมรับรองกระบวนการถอดถอนครั้งนี้ด้วย รวมทั้ง ส.ส.ลิซ เชนีย์, ส.ส.จอห์น แคตโก ส.ส.เฟรด อัพตัน และ ส.ส.อดัม คินซิงเกอร์
อย่างไรก็ตาม ผู้นำพรรครีพับลิกันในสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เควิน แม็คคาร์ธีย์ กล่าวว่า การถอดถอนประธานาธิบดีในช่วงนี้จะส่งผลเสียมากกว่าผลดีต่อความพยายามผสานความแตกแยกภายในประเทศ
ขณะที่โฆษกประจำตัวของผู้นำพรรครีพับลิกันในวุฒิสภา ส.ว.มิตช์ แม็คคอนแนลล์ กล่าวว่า ส.ว.แม็คคอนแนลล์ยังไม่ต้องการให้มีการประชุมฉุกเฉินของวุฒิสภาสหรัฐฯ เพื่ออภิปรายเรื่องการถอดถอนประธานาธิบดีทรัมป์แต่อย่างใด
พรรคเดโมแครตกล่าวหาว่าประธานาธิบดีทรัมป์ "ปลุกปั่นให้เกิดจลาจล" ในเหตุการณ์ผู้สนับสนุนทรัมป์บุกรุกอาคารรัฐสภาสหรัฐฯ เมื่อวันพุธที่แล้ว
แต่ประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวระหว่างการเยือนชายแดนสหรัฐฯ - เม็กซิโก ในวันอังคารว่า "กระบวนการถอดถอนจะทำให้เกิดความโกรธแค้น ความแตกแยกและความเจ็บปวดเกินกว่าที่คนส่วนใหญ่จะเข้าใจ ซึ่งถือเป็นอันตรายต่อสหรัฐฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาสำคัญนี้" พร้อมเรียกร้องให้เกิดความสงบและสันติ
ปธน.ทรัมป์ระบุว่า ความพยายามถอดถอนเขาเป็น “การล่าแม่มดอย่างต่อเนื่องครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การเมือง” โดยเป็นการอ้างอิงถึงกระบวนการสืบสวนที่พุ่งเป้ามายังเขาก่อนหน้านี้ ทั้งการแทรกแซงการเลือกตั้งของรัสเซียเมื่อปีค.ศ. 2016 และความพยายามถอดถอนเขาเมื่อปีค.ศ. 2019 หลังเขาขอให้ยูเครนช่วยขุดคุ้ยข้อมูลของอดีตรองปธน.ไบเดนในช่วงก่อนการเลือกตั้ง
โดยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ของปีที่แล้ว วุฒิสภาสหรัฐฯ มีมติประกาศให้ปธน.ทรัมป์ พ้นผิดทุกญัตติถอดถอน
หากสภาล่างลงมติว่าให้เริ่มกระบวนการถอดถอนประธานาธิบดีทรัมป์ ญัตติดังกล่าวจะถูกส่งต่อไปยังสภาสูงซึ่งต้องการเสียง 2 ใน 3 ของวุฒิสมาชิกทั้งหมดเพื่อให้ญัตติถอดถอนมีผลบังคับใช้
อย่างไรก็ตาม สภาล่างอาจชะลอการยื่นเรื่องถอดถอนออกไปหลังจากที่นายโจ ไบเดน เข้ารับตำแหน่งแล้ว ซึ่งการถอดถอนหลังที่ทรัมป์พ้นตำแหน่งจะมีผลให้เขาไม่สามารถลงสมัครเป็นประธานาธิบดีได้อีกครั้งในสมัยหน้า
นอกจากการยื่นญัตติถอดถอนแล้ว อีกวิธีหนึ่งที่รัฐสภาสามารถทำได้ในความพยายามถอดถอนประธานาธิบดีทรัมป์ คือการกดดันให้คณะรัฐมนตรีของประธานาธิบดีทรัมป์ ใช้สิทธิตามบทแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญสหรัฐฯฉบับที่ 25 เพื่อถอดถอนผู้นำสหรัฐฯ ออกจากตำแหน่ง
ซึ่งในการลงมติเมื่อคืนวันอังคาร สภาล่างมีมติ 223 - 205 ให้ผ่านญัตติกดดันรองประธานาธิบดีไมค์ เพนซ์ และคณะรัฐมนตรี ให้ใช้บทแก้ไขในรัฐธรรมนูญดังกล่าว
แต่รองประธานาธิบดีเพนซ์ได้ส่งจดหมายถึงประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ส.ส.แนนซี เพโลซี ตั้งแต่ก่อนการลงมติ ว่าตนจะไม่ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญเพื่อถอดถอนประธานาธิบดีแต่อย่างใด