ฮอนด้าและนิสสันอยู่ระหว่างการหารือควบรวมกิจการภายในปี 2026 ตามการยืนยันของทั้ง 2 บริษัทเมื่อวันจันทร์ นับเป็นช่วงเวลาสำคัญทางประวัติศาสตร์ของอุตสาหกรรมยานยนต์ญี่ปุ่น ที่ตอกย้ำถึงภัยคุกคามที่ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจีนเข้ามาสร้างแรงสั่นสะเทือนยักษ์ใหญ่ยานยนต์เจ้าเก่าที่ครองตลาดมายาวนานนี้
การควบรวมกิจการของฮอนด้า ค่ายรถใหญ่อันดับ 2 และนิสสัน ค่ายรถใหญ่อันดับ 3 ของแดนปลาดิบ จะทั้งสองค่ายรถญี่ปุ่นกลายเป็นกลุ่มธุรกิจยานยนต์ใหญ่อันดับ 3 ของโลกในด้านยอดขาย ตามหลังโตโยต้า และโฟล์คสวาเกน อีกทั้งยังมอบโอกาสให้ทั้ง 2 บริษัทแลกเปลี่ยนทรัพยากรเพื่อรับมือกับคู่แข่งด้านรถยนต์ไฟฟ้า อย่างเทสลา และบีวายดี
ทั้งฮอนด้าและนิสสัน มุ่งเป้ายอดขายรวม 30 ล้านล้านเยน และทำกำไรมากกว่า 3 ล้านล้านเยนผ่านการควบรวมกิจการนี้ โดยขั้นตอนต่อไปจะเป็นการสรุปรายละเอียดของการผนวกกิจการช่วงเดือนมิถุนายนปีหน้า เพื่อจัดตั้งบริษัทโฮลดิ้งร่วมกัน ภายในเดือนสิงหาคมปี 2026 ที่หุ้นของทั้ง 2 บริษัทจะออกจากตลาดหลักทรัพย์
ส่วนสัดส่วนการถือหุ้นต่าง ๆ ฮอนด้า ที่มีมูลค่าตลาดมากกว่า 40,000 ล้านดอลลาร์ หรือมากกว่า 4 เท่าของนิสสัน จะเป็นฝ่ายจัดตั้งบอร์ดบริหารของบริษัทโฮลดิ้งนี้
ดีลฮอนด้า-นิสสันนี้ ถือเป็นการเปลี่ยนโฉมของอุตสาหกรรมยานยนต์ครั้งใหญ่ นับตั้งแต่ดีลควบรวมกิจการ 52,000 ล้านดอลลาร์ ระหว่างเฟียต ไครส์เลอร์ และพีเอสเอ เมื่อปี 2021 ซึ่งกลายเป็นสเตแลนทิส ในปัจจุบัน
นอกจากนี้ มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ซึ่งนิสสันเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่อยู่ ก็พิจารณาการเข้าร่วมกลุ่มยานยนต์ใหม่นี้เช่นกัน และคาดว่าจะประกาศการตัดสินใจในช่วงปลายเดือนมกราคมปีหน้า อ้างอิงจากการเปิดเผยของบริษัท ระหว่างที่ซีอีโอของฮอนด้า นิสสัน และมิตซูบิชิ ร่วมงานแถลงข่าวประกาศควบรวมกิจการนี้ที่กรุงโตเกียวเมื่อวันจันทร์
ซึ่งหากเป็นไปตามคาดการณ์ จะทำให้กลุ่มธุรกิจยานยนต์ใหม่นี้มีสัดส่วนยอดขายรถทั่วโลกมากกว่า 8 ล้านคัน แซงหน้าอันดับ 3 เดิมอย่างฮุนไดและเกียของเกาหลีใต้
- ที่มา: รอยเตอร์
กระดานความเห็น