ลิ้งค์เชื่อมต่อ

9 วิธีลดความเครียดทางการเงินช่วงเทศกาล


แฟ้ม - ภาพธนบัตร 20 ดอลลาร์ มารวมกัน เมื่อ 28 ม.ค. 2022 (เอพี)
แฟ้ม - ภาพธนบัตร 20 ดอลลาร์ มารวมกัน เมื่อ 28 ม.ค. 2022 (เอพี)

วันหยุดช่วงเทศกาลควรเป็นช่วงเวลาแห่งความรื่นเริงบันเทิงใจ แต่ก็อาจเป็นเวลาที่น่าปวดหัวทางการเงินได้เช่นกัน ทั้งของขวัญ การรวมตัวสังสรรค์ และการซื้อตั๋วเครื่องบินกลับไปเยี่ยมครอบครัว ทั้งหมดล้วนถาโถมเข้ามาในช่วงเวลานี้กันทั้งสิ้น

การสำรวจของ AP-NORC ชี้ว่า ค่าใช้จ่ายภาคครัวเรือนมีทิศทางเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และชาวอเมริกันจำนวนมากแสดงความกังวลเกี่ยวกับอนาคตทางการเงินของพวกเขามากขึ้นเช่นกัน

นพ.เปตรอส เลวูนิส ประธานสมาคมจิตแพทย์อเมริกัน (American Psychiatric Association) เปิดเผยกับเอพีว่า “ความกังวลเรื่องการเงินเป็นประเด็นอันดับหนึ่ง ที่กระตุ้นให้เกิดความวิตกกังวลในช่วงเทศกาล”

เอพีมี 9 คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญในการลดความเครียดเรื่องนี้ในช่วงเวลาแห่งความสุขนี้

กำหนดความคาดหวัง

เทศกาลสำหรับหลายครอบครัวคือการทุ่มมอบของขวัญ แต่นี่อาจทำให้เกิดความเครียดทางการเงินขึ้นมาได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งซาราห์ ฟอสเตอร์ นักวิเคราะห์จากเว็บไซต์ทางการเงิน Bankrate.com บอกกับเอพีว่า การกำหนดความคาดหวังของสมาชิกในครอบครัวนั้นสำคัญ “ในช่วงเทศกาล เรามักไม่อยากพูดถึงเรื่องเงิน ไม่อยากบอกว่าของขวัญที่ซื้อมาราคาเท่าไหร่” ดังนั้นการยอมพูดถึงงบที่จ่ายไหวสำหรับของขวัญในแต่ละปีเป็นสิ่งที่ดีที่ควรเริ่มทำ

ทำงบประมาณใช้จ่าย

นพ.เลวูนิส เสริมว่าการตั้งงบประมาณสำหรับเทศกาล “พยายามอย่าจ่ายเกินตัว ทำงบไว้และใช้ตามนั้น การอยู่กับเพื่อนฝูงมีความหมายต่อสุขภาพจิตเรามากกว่าของนอกกายเสียอีก”

แต่การพูดอาจง่ายกว่าลงมือทำ ซึ่ง เทร บอดจ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการช็อปปิ้ง แนะนำกับเอพีว่า หากคุณเป็นคนที่ชอบใช้เงินเกินตัว การกำหนดงบที่ใช้จ่ายเพื่อควบคุมการช็อปถือเป็นสิ่งสำคัญ โดยเขียนรายการของขวัญทั้งหมดและซื้อตามที่เขียนไว้เท่านั้นเวลาช็อป และหากเป็นคนที่ชอบซื้อของขวัญปรนเปรอตัวเอง ก็ควรกำหนดงบไว้ให้ด้วย

หาไอเดียสร้างสรรค์

มีหลายทางเลือกในการจับจ่าย ไม่เพียงแต่การออกไปซื้อหาอย่างเดียว เช่น

ของขวัญทำมือ

เลนา หลิว วัย 30 ปี จากแมสซาชูเซตส์ หันมาทำกำไลข้อมือให้เพื่อน ๆ ในช่วงเทศกาล “เพราะเป็นสิ่งที่แสดงถึงความใส่ใจและราคาไม่แพงเลย” อีกทั้ง “คนรับยังมองว่าเราเป็นคนทุ่มเทแรงกายและใจในการออกแบบ ซึ่งน่าประทับใจกว่า”

บัตรของขวัญ

แม้จะดูเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับผู้รับเท่าใดนัก แต่ฟอสเตอร์ เห็นว่าบัตรของขวัญเป็นแนวทางที่ดีในการควบคุมงบประมาณการจับจ่ายได้ดี

มอบประสบการณ์

บอดจ์ เห็นว่ากระแสคนรุ่นใหม่เลือกให้ของขวัญเพื่อนฝูงเป็นประสบการณ์มากกว่าของขวัญ แต่แนะว่าไม่ควรทุ่มเงินไปกับทริปหรูราคาแพง แต่หากิจกรรมสนุก ๆ ที่จ่ายไหวไว้ทำร่วมกับคนที่เรารักดีกว่า เช่น การเล่นไอซ์สเก็ต เดินป่า เป็นเจ้าภาพทำกับข้าวเลี้ยงเพื่อน หรือจะถ่ายภาพพร้อมทำกรอบรูปสวย ๆ ไว้เป็นที่ระลึกสำหรับประสบการณ์ดี ๆ ร่วมกันก็ได้

ให้เวลา

หากไม่มีงบพอจะพาพ่อแม่ไปเที่ยวหรือเดินทางไปเยี่ยมเยือนในช่วงเทศกาล การให้เวลากับพวกเขามากขึ้นก็ถือเป็นของขวัญล้ำค่ามากแล้ว ในทัศนะของ นพ.เลวูนิส ดังนั้นลองใช้เวลาวิดีโอคอลไปหาเพื่อน พ่อแม่ หรือปู่ย่าตายายทุกวัน อาจเป็นของขวัญที่ดีสำหรับพวกเขาก็ได้

นำร่องธรรมเนียมของตัวเอง

ความคาดหวังหรือธรรมเนียมที่เคยเติบโตมา ในการซื้อหาของขวัญแพง ๆ ให้ทุกคนในครอบครัว ควรให้มันจบที่รุ่นเรา โดยบอดจ์ เห็นว่า “บางครั้งคุณอาจมีสมาชิกครอบครัวที่ฐานะดีและชอบจะปรนเปรอของใหญ่ของแพงให้ แต่หากคุณไม่ได้อยู่ในสถานะการเงินเดียวกันกับพวกเขา ไม่จำเป็นที่จะต้องมอบสิ่งที่ทัดเทียมให้ก็ได้” แต่การสร้างธรรมเนียมของตัวเองจะช่วยบรรเทาความเครียดในการจับจ่ายเกินตัวมากกว่า

แบ่งภาระรับผิดชอบดูบ้าง

บอดจ์ เสริมว่า การตัดงบประมาณด้วยการเลือกเฟ้นสิ่งของและผู้ให้จะช่วยได้มาก เช่น หากเป็นเจ้าภาพงานปาร์ตี้ ก็อาจจะเสนอให้แขกเหรื่อหอบพวกขนม ของว่าง เครื่องดื่ม หรือของหวานมาบ้างก็ได้

สื่อสารความกังวลให้คนใกล้ชิด

หากคุณเผชิญกับปัญหาทางการเงิน การพูดกับครอบครัวหรือเพื่อนฝูงอาจช่วยได้

อย่างกรณีของหลิว ที่เผชิญกับภาวะซึมเศร้าและวิตกกังวลในปีแรกที่เรียนแพทย์ในปีแรก ไม่กล้บอกครอบครัวเพราะพื้นเพที่เป็นคนจีน เป็นเรื่องยากที่จะบอกเรื่องปัญหาสุขภาพจิตกับคนรอบข้าง แต่ครอบครัวและน้องสาวฝาแฝดของเธอรับฟัง และทำให้เธอก้าวผ่านความยากลำบากมาได้

ไม่กลัวที่จะปฏิเสธบ้าง

ในช่วงเทศกาลที่มีงานเลี้ยงและการมอบของขวัญมากมาย อาจทำให้หลายคนเครียดได้ ซึ่ง นพ.เลวูนิส แนะว่าหากรู้สึกไม่สบายใจในการสื่อสารเรื่องปัญหาการเงินกับครอบครัว ควรหยุดพักการร่วมงานเหล่านี้และจำกัดการบริโภคแอลกอฮอลล์ เพื่อลดภาวะเครียดและวิตกกังวลลงได้

ฝึกพฤติกรรมที่ดีต่อสุขภาพการเงิน

ระหว่างที่ความเครียดมีรากฐานมาจากปัญหาการเงิน ความรู้สึกเชิงลบอาจแผ่ออกมาในมิติอื่นของชีวิต และทำให้ยากที่จะมีความสุขในช่วงเทศกาล

นพ.เลวูนิส แนะว่า การหยุดพักจากการสังสรรค์และการจับจ่ายช่วงคริสต์มาส เพื่อหันมาทำอะไรเพื่อตัวเองมากขึ้น เช่นการออกกำลังกายเล็ก ๆ น้อย จำพวกการเดินหรือปั่นจักรยานอาจช่วยได้ นอกจากนี้ การนอนหลับให้เพียงพอก็สำคัญมาก การชัตดาวน์ตัวเองจากอุปกรณ์สื่อสารสัก 2-3 ชั่วโมงก่อนนอน เป็นสิ่งที่เริ่มต้นได้ตั้งแต่วันนี้

พึ่งพาผู้เชี่ยวชาญหากจำเป็น

หากยังเผชิญกับปัญหาสุขภาพจิตต่อเนื่อง การพึ่งพาผู้เชี่ยวชาญเป็นสิ่งจำเป็น อย่างในสหรัฐฯ ติดต่อสายด่วน 211 เพื่อพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต ซึ่งไม่มีค่าใช้จ่ายและปลอดภัยในการติดต่อ

  • ที่มา: เอพี

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG