ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นักช็อปอเมริกันปันใจให้ ‘ดู๊ป’ สินค้าแอ๊บเนียนแบรนด์ดัง


ลอว์เรน แมกกินเนสส์ กับเสื่อผ้า 'ดูปส์' หรือสินค้าที่ผลิตคล้ายกับสินค้าแบรนด์อื่น (ที่มา: รอยเตอร์)
ลอว์เรน แมกกินเนสส์ กับเสื่อผ้า 'ดูปส์' หรือสินค้าที่ผลิตคล้ายกับสินค้าแบรนด์อื่น (ที่มา: รอยเตอร์)

สารพัดสินค้าที่ลอกเลียนแบบเสื้อผ้า รองเท้า และน้ำหอมจากแบรนด์ดัง ที่เรียกกันในชื่อเล่นว่า ‘ดู๊ป’ เริ่มได้รับความนิยมจากนักช็อปในสหรัฐฯ จากความคล้ายต้นฉบับและราคาที่ถูกกว่ามาก สะท้อนปัญหาในยุคการค้าขายออนไลน์

รอยเตอร์ รายงานเรื่องราวของลอว์เรน แมกกินเนสส์ แฟนสินค้าเสื้อผ้าแบรนด์ Lululemon จากมหานครนิวยอร์ก ที่กำลังปันใจให้กับสินค้าที่เป็นของทำเลียนแบบที่วางขายในช่องทางขายของออนไลน์อย่าง Amazon

หนึ่งในยี่ห้อที่เธอชอบคือ CRZ Yoga ที่ขายกางเกงโยคะเอวสูงที่คล้ายคลึงกับกางเกงของ Lululemon แต่ขายในราคา 32 ดอลลาร์ เทียบกับราคาต้นฉบับที่วางจำหน่ายอยู่ที่ราคา 98 ดอลลาร์ โดยแมกกินเนสส์รู้จัก CRZ จากอินฟลูเอนเซอร์ในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย TikTok ที่อ้างว่าเคยเป็นพนักงานของ Lululemon

ข้อมูลจากบริษัทวิเคราะห์ Jungle Scout ระบุว่า CRZ Yoga สามารถขายกางเกงแบบเลกกิ้งได้ถึง 88,633 ตัวต่อเดือน และมีรายได้เดือนละ 2.84 ล้านดอลลาร์ รอยเตอร์ติดต่อไปยัง CRZ Yoga ที่มีเจ้าของเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในฮ่องกงแต่ไม่ได้รับการตอบกลับ

เรื่องราวที่เกิดขึ้นสะท้อนถึงความต้องการสินค้าลอกเลียนแบบที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบกับยอดขายของสินค้าแบรนด์ใหญ่เพิ่มเติมมาจากปัญหาภาวะเงินเฟ้อ และโดยเฉพาะในหมู่ผู้บริโภควัยรุ่น สินค้าที่เรียกในชื่อเล่นว่า ‘ดู๊ป’ มาจากการย่อคำว่า duplicate ที่แปลว่าการทำของที่เหมือนกันออกมา ก็เป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวาง

ยอดการค้นหาในแฮชแท็กใน TikTok ที่เกี่ยวกับสินค้าแบบดู๊ป มีจำนวนการเข้าชมเป็นหลักล้าน ไม่เพียงเท่านั้น เหล่าอินฟลูเอนเซอร์ที่รับเงินค่านายหน้า ก็ต่างขายผลิตภัณฑ์ดู๊ปกันอย่างเป็นเรื่องปกติ

ผู้เชี่ยวชาญมองว่า สินค้าทำเหมือนเช่นนี้ วางขายอย่างกว้างขวางโดยผู้ค้าจำนวนมาก ทำให้เป็นเรื่องยากที่จะวัดส่วนแบ่งการตลาดที่เจ้าของแบรนด์ต้นทางถูกแย่งชิงไปในช่วงเทศกาลช็อปปิงวันหยุด

เลสลีย์ เกซี รองประธานบริหารบริษัทให้คำปรึกษาด้านการค้าปลีก Doneger Tobe กล่าวว่าสินค้าที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดคือสินค้าลอกเลียนแบบได้ง่ายอย่างน้ำหอม เสื้อผ้า หรือรองเท้า

เอียน แทปลิน ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัย Wake Forest กล่าวว่า ที่มาของกระแสดู๊ป สามารถสืบย้อนไปได้ถึงปี 1975 สมัยที่บริษัท Inditex ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์ Zara ที่เลือกทำสินค้าลอกเลียนดีไซน์หรู และด้วยความที่วงจรการผลิตที่รวดเร็วกว่า ก็ทำให้สินค้าสไตล์ใหม่ ๆ เข้าสู่ตลาดได้เร็วขึ้น หรือที่เรียกกันว่ากระแส fast fashion

ไม่เพียงเท่านั้น การมาของแพลตฟอร์มชอปปิ้งออนไลน์อย่าง Amazon, eBay, Shopify และ Etsy ก็ทำให้สินค้าแบบดู๊ปมียอดขายเพิ่มขึ้น และลูกค้าก็สามารถเปรียบเทียบสินค้าและราคาได้ง่ายขึ้นด้วย

มาเรีย บอสเชตติ โฆษก Amazon กล่าวว่า บริษัทไม่อนุญาตให้ผู้ขายสินค้าในแพลตฟอร์มโดยใช้คำว่า ‘ดู๊ป (dupe)’ หรือ ‘ปลอม (fake, faux)’ ในคำอธิบายชื่อแบรนด์สินค้า

แต่ประธานด้านธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของบริษัท Jungle Scout อย่างไมค์ เชชุค ก็มองว่า แพลตฟอร์มไม่สามารถจัดการผู้ละเมิดกฎได้ตลอด นอกจากนั้น ผู้เชี่ยวชาญยังมองด้วยว่าผู้ทำสินค้าแบบดู๊ปมีทักษะการออกแบบสินค้าให้หลบเลี่ยงปัญหาด้านลิขสิทธิ์จากต้นตำรับได้เก่งขึ้น

  • ที่มา: รอยเตอร์

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG