รายงานของ CNN ระบุว่า ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ มีโรคระบาดเกิดขึ้นมากมายซึ่งลุกลามไปหลายประเทศ เช่น การระบาดของเชื้ออีโบล่าในแอฟริกาเมื่อปี ค.ศ. 2014 และการระบาดของเชื้อไวรัสซิก้าในอเมริกาใต้และภูมิภาคอื่นๆ เมื่อปีที่แล้ว ยังไม่รวมการระบาดประปรายที่ไม่เป็นข่าวใหญ่ในระดับโลก
ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขชี้ว่า ทุกครั้งที่เกิดการระบาดครั้งใหญ่ มักไม่มีสัญญาณเตือนล่วงหน้า และไม่สามารถคาดเดาถึงขอบเขตของการระบาดได้ ทำให้ประชากรโลกตกอยู่ในความเสี่ยงมากขึ้นเรื่อยๆ
ศาสตราจารย์ Jimmy Whitworth แห่งภาควิชาสาธารณสุขระหว่างประเทศ London School of Hygiene & Tropical Medicine กล่าวว่า
“ในขณะที่ระบบเศรษฐกิจและการสาธารณสุขของหลายประเทศยังคงเปราะบาง นั่นหมายความว่าไม่มีประเทศไหนในโลกที่จะปลอดภัยจากโรคระบาดครั้งใหญ่ เพราะเชื้อโรคนั้นไม่มีพรมแดน”
โดยศาสตราจารย์ Whitworth เชื่อว่าวิถีการดำรงชีวิตในปัจจุบัน คือปัจจัยที่ทำให้เกิดความเสี่ยงดังกล่าว
รายงานของ CNN ได้ระบุถึงปัจจัยเสี่ยง 7 ประการ ที่ทำให้โลกสมัยใหม่เปราะบางต่อการระบาดของโรคต่างๆ
ประการแรก คือ “การเพิ่มขึ้นของประชากรโลก และการขยายตัวของเขตนาคร” โดยสหประชาชาติคาดการณ์ว่า ภายในปี ค.ศ. 2050 ประชากรโลกราว 66% จะอาศัยอยู่ในเขตเมือง
การที่ประชากรหนาแน่นขึ้น ทำให้ต้องใช้ชีวิตและปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น ซึ่งหมายถึงการส่งผ่านเชื้อโรคต่างๆ สู่กันและกันได้ง่ายขึ้นด้วย ไม่ว่าจะเป็นทางน้ำ อากาศ หรืออาหาร
รวมถึงการผลิตอาหารเพิ่มขึ้นเพื่อป้อนประชากร ก็มีโอกาสที่เชื้อโรคต่างๆ จะปะปนมาในอาหารได้มากขึ้นเช่นกัน
ประการที่สอง คือ “การรุกล้ำเข้าสู่สิ่งแวดล้อมใหม่ๆ” เมื่อเขตนาครขยายตัว จึงจำเป็นต้องมีการรุกล้ำเข้าไปในพื้นที่ใหม่ๆ เช่น พื้นที่ป่า และอาจนำมาซึ่งโรคใหม่ๆ ได้ เช่น โรค Lassa fever ที่ระบาดในไนจีเรียเมื่อปีที่แล้ว
ขณะเดียวกัน สัตว์ที่ถูกทำลายถิ่นที่อยู่อาศัย ก็ต่างอพยพเข้าเมือง และอาจนำเชื้อโรคมาด้วยเช่นกัน
ปัจจัยเสี่ยงที่สาม คือ “การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก” ทำให้โอกาสเกิดโรคระบาดสูงขึ้นและรุนแรงขึ้น เช่น โรคท้องร่วง ในพื้นที่ที่เกิดน้ำท่วมหรือคลื่นความร้อนสูง
นอกจากนี้ พาหะของโรคต่างๆ เช่น ยุงลาย ก็อาจสามารถรุกล้ำเข้าไปในพื้นที่ใหม่ๆ ที่อากาศอบอุ่นขึ้น ทำให้มีโอกาสเกิดโรคระบาดเพิ่มขึ้นด้วย
ปัจจัยเสี่ยงที่สี่ คือ “การเดินทางข้ามประเทศ” องค์การการท่องเที่ยวสากล ระบุว่าแต่ละปีมีคนเดินทางระหว่างประเทศกว่า 1,000 ล้านคน ซึ่งหมายความว่าเชื้อโรคมีโอกาสถ่ายทอดจากประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่งได้อย่างง่ายดาย
ตัวอย่างเช่น การระบาดของโรคซาร์สเมื่อปี ค.ศ. 2003 ที่ทำให้มีผู้ติดเชื้อกว่า 8,000 คน ในกว่า 30 ประเทศทั่วโลก และเชื้อไวรัสซิก้า ที่มีรายงานผู้ติดเชื้อในมากกว่า 84 ประเทศเมื่อปีที่แล้ว
และนอกจากการระบาดเพราะเชื้อโรคที่ติดมากับนักเดินทางแล้ว สัตว์ที่เป็นพาหะนำโรคก็อาจติดไปกับสินค้าต่างๆ ที่มีการขนส่งข้ามประเทศด้วย
ความเสี่ยงประการที่ห้า คือ “ความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศ” ซึ่งทำลายระบบสาธารณสุขในประเทศนั้นๆ เช่น การระบาดของเชื้ออีโบล่าในสามประเทศของแอฟริกา คือ เซียร่า-ลีโอน, กีนี และไลบีเรีย ซึ่งล้วนมีปัญหาการเมืองในประเทศ ทำให้การควบคุมการระบาดเป็นไปอย่างยากลำบาก
ความเสี่ยงประการที่หก คือ “ปัญหาขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ในพื้นที่เกิดโรคระบาด” เนื่องจากแพทย์และพยาบาลในประเทศเหล่านั้นซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศยากจน มักจะไปทำงานในประเทศอื่นที่ให้ค่าตอบแทนสูงกว่า
รายงานของสหประชาชาติชี้ว่า ปัจจุบันมากกว่า 75 ประเทศที่มีอัตราส่วนแพทย์ 1 คนต่อประชากรมากกว่า 1,000 คน
และประการสุดท้าย คือ “การติดต่อสื่อสารไร้พรมแดน” ทำให้ข่าวเรื่องการระบาดของโรคต่างๆ แพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วทางอินเทอร์เน็ต จนบางครั้งทำให้เกิดการวิตกเกินกว่าเหตุ และที่สำคัญ ไม่ใช่ข่าวทุกอย่างที่เผยแพร่ไปนั้นเป็นข่าวที่ถูกต้อง ซึ่งบางครั้งส่งผลต่อความพยายามควบคุมการระบาดของโรค
บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขชี้ว่า ปัจจัยต่างๆ ที่กล่าวมา กำลังทำให้โลกตกอยู่ท่ามกลางความเสี่ยง ขณะที่ระบบสาธารณสุขโลกก็ยังไม่พร้อมเตรียมรับมือหากเกิดโรคระบาดครั้งใหญ่กว่าที่ผ่านๆ มา
(ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียงจากรายงานของ CNN )