นักวิทยาศาสตร์ที่บราซิลพบหลักฐานที่โยงถึงผลกระทบอีกอาการหนึ่งต่อสมองจากเชื้อไวรัส Zika ซึ่งอาการดังกล่าวมีความคล้ายกับโรค Multiple Sclerosis หรือโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง
ความผิดปกติที่ว่านี้มีชื่อเฉพาะทางการแพทย์ว่า Disseminated Encemphalomyelitis หรือ ADEM ถูกระบุถึงในงานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ชาวบราซิล Maria Lucia Brito Ferreira
แพทย์หญิง Ferreira จะแสดงรายละเอียดของงานวิจัยนี้ที่การประชุมการแพทย์สัปดาห์หน้าที่เมือง Vancouver ประเทศแคนาดา
อาการ ADEM เกิดขึ้นเมื่อระบบภูมิค้นกันถูกโจมตีอย่างรุนแรงในระยะเวลาอันสั้น และผลกระทบจะเกิดขึ้นกับสมองและระบบประสาท สำหรับผู้ป่วยที่ฟื้นจากการติดเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย
สื่อ G1 ของบราซิลรายงานว่า อาจารย์ Ferreira ศึกษาคนไข้ 151 คนที่เข้าโรงพยาบาลช่วงเดือนธันวาคมสองปีก่อนถึงมิถุนายนปีที่แล้ว โดยเธอสำรวจอาการของคนไข้ที่ติดเชื้อกลุ่มเดียวกับไวรัส Zika ซึ่งยังรวมถึงเชื้อชนิดอื่นๆ เช่น ไข้เลือดออก และโรค Chikungunya
ในบรรดาผู้ป่วยเหล่านี้ มี 6 รายติดเชื้อ Zika ซึ่งประกอบด้วย 5 รายที่มีความผิดปกติในการเคลื่อนไหวร่างกายและการมอง ส่วนอีกรายหนึ่งมีปัญหาเรื่องการรับรู้ของสมอง
ก่อนหน้านี้ นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่า Zika อาจทำให้เด็กที่เกิดจากมารดาที่มีเชื้อ Zika มีศีรษะเล็กกว่าปกติ เพราะไวรัสมีผลต่อการพัฒนาทางสมอง
นอกจากนั้นวงการแพทย์ยังทราบแล้วว่า Zika อาจเชื่อมโยงกับความผิดปกติที่เกิดจากภูมิต้านทานตนเอง ที่เรียกว่า Guillian-Barre ที่ทำให้สมองบวม และอาการผิดปกติด้านการมองเห็นและทรงตัว และการรับรู้จากการสัมผัสเพราะระบบประสาทที่ไขสันหลังได้รับความเสียหาย
แต่การค้นพบของอาจารย์ Ferreira ครั้งนี้ระบุว่า Zika อาจเป็นสาเหตุของอาการ ADEM ชี้ให้เห็นถึงความผิดปกติในระดับที่ร้ายแรงขึ้นจากไวรัส Zika
ขณะนี้ในบราซิล มีผู้ที่ถูกสันนิษฐานว่าติดเชื้อ Zika 4,300 ราย ซึ่งในจำนวนนี้แพทย์สามารถยืนยันว่าเป็นสาเหตุของไวรัสชนิดนี้ 940 ราย และบราซิลเป็นหนึ่งในอย่างน้อย 13 ประเทศ ที่พบผู้ป่วยโรค Gullian-Barre ที่เชื่อมโยงกับไวรัสชนิดนี้
ความกังวลถึงการระบาด ทำให้ประธานาธิบดีโอบามาเรียกร้องต่อสภาอเมริกันเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ให้ตั้งงบประมาณ 1,900 ล้านดอลลาร์สำหรับการต่อสู้กับไวรัส Zika
(รายงานโดย Aline Barros / เรียบเรียงโดย รัตพล อ่อนสนิท)