นักวิจัยอิสราเอลใช้เทคโนโลยีการตัดต่อพันธุกรรม เพื่อช่วยลดการฆ่าลูกไก่เพศผู้โดยไม่จำเป็น ซึ่ง อาจเป็นตัวเปลี่ยนเกมของรูปแบบการเลี้ยงไก่แบบดั้งเดิม
ทุกๆ ปี คนทำฟาร์มไก่จะต้องฆ่าลูกไก่เพศผู้อายุที่อายุเพียงหนึ่งวันถึง 7 พันล้านตัว เพราะพวกมันไม่สามารถเติบโตเพื่อวางไข่ได้ และไม่ใช่พันธุ์ที่จะเลี้ยงไว้เพื่อเป็นเนื้อสัตว์ แต่นักวิจัยในอิสราเอลมีทางออกของเรื่องนี้
ลูกไก่ทั้งหมดที่ห้องปฏิบัติการของยูวาล ซินเนมอน (Yuval Cinnamon) ที่อยู่ทางภาคกลางของอิสราเอลล้วนเป็นเพศเมีย ห้องทดลองแห่งนี้มีทางออกสำหรับสิ่งที่เขาเรียกว่า “ปัญหาเกี่ยวกับสวัสดิภาพสัตว์ที่ร้ายแรงที่สุดทั่วโลก นั่นก็คือการคัดแยกลูกไก่เพศผู้ที่อายุหนึ่งวัน” ออกมา
ซินเนมอน หัวหน้านักวิจัยของสถาบัน Volcani Institute ของอิสราเอลซึ่งทำงานเพื่อความมั่นคงและความปลอดภัยด้านอาหารอธิบายว่า โดยปกติแล้วลูกไก่ตัวผู้ที่อายุหนึ่งวันจะถูกนำไปฆ่าด้วยการทำให้เปื่อยยุ่ย ทำให้ขาดอากาศหายใจ หรือใช้กระแสไฟฟ้า แต่ในบางประเทศไม่ได้สนใจที่จะใช้วิธีการฆ่าลูกเจี๊ยบเหล่านี้อย่างถูกต้องด้วยซ้ำไป
เขากล่าวต่อไปว่า ทีมงานของเขาได้สร้างลักษณะทางพันธุกรรมที่มีความเชื่อมโยงกับเพศซึ่งจะหยุดการพัฒนาของตัวอ่อนเพศผู้หลังจากที่วางไข่ได้ไม่นาน
ซินเนมอนอธิบายว่า “นักวิจัยจะนำไข่เหล่านี้ไปกระตุ้นลักษณะทางพันธุกรรมโดยใช้แสงสีฟ้าที่ทำให้เพศผู้หยุดพัฒนาทันที ส่วนเพศเมียไม่ได้รับการดัดแปลงพันธุกรรมใด ๆ ทั้งสิ้น เช่นเดียวกับไข่ของพวกมัน
สำหรับไข่ที่ยังไม่ฟักออกมานั้น สามารถนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้ เช่น เป็นอาหารสัตว์ เป็นต้น
ยาริท เวนเบิร์ก (Yaarit Wainberg) ซีอีโอของ Poultry by Huminn ซึ่งมีใบอนุญาตให้ทำการวิจัยเชิงพาณิชย์ ต้องการนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ในโรงฟักไข่ทั่วโลก
และกล่าวว่า “เรากำลังเจรจากับบรรดาบริษัทที่ทำธุรกิจด้านพันธุกรรมของแม่ไก่อยู่ และน่าจะได้เห็นวิธีการแก้ปัญหานี้ในตลาดภายในเวลาสองปี ซึ่งคาดว่าจะวิธีเป็นการแก้ปัญหาสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมฟาร์มไก่”
- ที่มา: รอยเตอร์