วิวัฒนาการทางวิทยาศาตร์ทำให้การผลิตอาหารไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นในพื้นที่เพาะปลูกหรือฟาร์มสัตว์อีกต่อไป และล่าสุด ทางการสิงคโปร์เพิ่งอนุมัติให้มีการผลิตเนื้อไก่เพื่อการบริโภคจากห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์ได้แล้ว
สำนักข่าว รอยเตอร์ส รายงานว่า เนื้อไก่ที่ผลิตจากห้องแล็บนี้จะมีออกมาจำหน่ายให้ผู้บริโภครับประทานกันในเร็วๆ นี้ ในรูปแบบของนักเก็ต ที่ผลิตโดย Eat Just ซึ่งเป็นบริษัทสตาร์ทอัพจาก ซานฟรานซิสโก และเป็นรายแรกที่ได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานกำกับดูแลของสิงคโปร์
จอช เททริค ซีอีโอ ของ East Just ให้สัมภาษณ์กับ รอยเตอร์ส ว่า ตนเชื่อว่า สหรัฐฯ และประเทศยุโรปตะวันตกอื่นๆ จะเริ่มเห็นพัฒนาการเรื่องนี้ในสิงคโปร์ และจะเริ่มหาทางทำตามอย่างในไม่นานนี้แล้ว
ข้อมูลจากสถานีข่าว NBC News ระบุว่า เนื้อไก่ที่ผลิตได้จากห้องแล็บนั้น มาจากเซลล์กล้ามเนื้อและไขมันจากสัตว์ ที่เพาะในจานเพาะจนโตพอ ที่จะย้ายไปอยู่ใน อุปกรณ์ปฏิกรชีวภาพ ซึ่งเป็นภาชนะที่ใช้เพิ่มปริมาณสิ่งมีชีวิตพวกจุลินทรีย์ให้มีจำนวนมากขึ้นในช่วงเวลาอันสั้น โดยจะมีสารอาหารที่จำเป็นบรรจุอยู่ภายใน พร้อมทั้งมีระบบควบคุมสภาพแวดล้อม ให้เหมาะสมต่อการเจริญของจุลินทรีย์
แต่เนื่องจากนวัตกรรมนี้ยังอยู่ในขั้นเริ่มต้น ราคาต้นทุนจึงค่อนข้างสูง
ยกตัวอย่างเช่น เนื้อแฮมเบอร์เกอร์ที่ผลิตในห้องทดลองโดยบริษัทสตาร์ทอัพสัญชาติฮอลแลนด์แห่งหนึ่งเมื่อปี ค.ศ. 2013 มีราคาถึงชิ้นละ 280,000 ดอลลาร์ ตามรายงานของ NBC News
สำหรับผลิตภัณฑ์ของ East Just นั้น ทางบริษัทยืนยันว่า ไม่ได้มีราคาสูงเช่นนั้น แต่เพียงเท่าๆ กับเนื้อไก่ชั้นดีมากกว่า
รายงานข่าวระบุว่า เนื่องจากสิงคโปร์มีความสามารถในการผลิตอาหารเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ของความต้องการในประเทศ ความสำเร็จในการผลิตเนื้อไก่ในห้องแล็บนี้ น่าจะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าอย่างมากในระยะยาว
รอยเตอร์ส รายงานว่า ในเวลานี้ มีบริษัทกว่า 20 แห่งทั่วโลกที่กำลังเร่งพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเนื้อในห้องแล็บ ขณะที่ ธนาคาร Barclays ประเมินว่า อุตสาหกรรมนี้น่าจะมีมูลค่าสูงถึง 140 ล้านดอลลาร์ภายในปี ค.ศ. 2029