ชาวอเมริกันเทใจให้เมนู ปีกไก่ไร้กระดูก หรือ boneless wings เป็นเมนูยอดฮิต แม้จะมีผู้ออกมาเรียกร้องให้ตาสว่างเกี่ยวกับที่มาที่ไปของเมนูดังกล่าวก็ตาม ตามรายงานของเอพี
ในช่วงที่การแข่งขันอเมริกันฟุตบอลรอบชิงชนะเลิศ ซูเปอร์โบวล์ ดำเนินมาถึง เมนูที่ชาวอเมริกันผู้บริโภคไก่จะต้องสั่งแบบไม่คิด ก็คือ เมนูไก่ทอดกรอบชิ้นขนาดพอดีคำ คล้ายกับนักเก็ตไก่ คลุกเคล้าซอสตามชอบใจ และชื่อแสนเก๋ที่ว่า ‘ปีกไก่ไร้กระดูก’
แต่เมื่อย้อนไปในปี 2020 แอนเดอร์ คริสเทนเซน ชายจากเมืองลินคอล์น เนบราสกา ยื่นเรื่องกับทางการท้องถิ่นในประเด็นที่ว่า ให้ถอดชื่อ ปีกไก่ไร้กระดูก ออกจากเมนูและออกจากหัวใจของเราซะ และว่า “เราใช้ชีวิตอยู่บนคำโกหกหลอกลวงมานานเกินไป” แม้อาจจะเป็นเรื่องขำขัน แต่คือความจริงปวดใจที่ว่า ปีกไก่ไร้กระดูกนั้น ไม่ใช่ปีกไก่อย่างคำเคลมนั่นเอง
หลายคนรู้ดีถึงความเป็นจริงที่ว่ามันทำมาจากเนื้ออกไก่ แต่มีชาวอเมริกันอีกมากที่ยังไม่ทราบว่าเมนูนี้เป็นเพียงกิมมิกการตลาด ที่ดึงให้คนรักปีกไก่ในอเมริกาเข้าถึงได้ง่าย
โดยในสัปดาห์ซูเปอร์โบวล์ปีนี้ ข้อมูลจาก National Chicken Council ประเมินว่า ชาวอเมริกันจะบริโภคปีกไก่ มากถึง 1,450 ล้านชิ้นทีเดียว
ปีกไก่ไร้กระดูกสร้างมูลค่า
เหตุผลหลักของความนิยมปีกไก่ไร้กระดูกคือราคา เพราะราคาของไก่ที่เพิ่มขึ้น ทำให้เมนูทางเลือกต่าง ๆ ได้รับความนิยมมากขึ้นไปด้วย โดยราคาปีกไก่ไร้กระดูกโดยเฉลี่ย อยู่ที่ 4.99 ดอลลาร์ต่อครึ่งกิโล ซึ่งถูกกว่าปีกไก่จริง ๆ เกือบครึ่ง หนึ่ง อ้างอิงจาก National Chicken Council ที่กล่าวถึงข้อมูลของกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ นอกจากนี้ การยอมรับในเมนูดังกล่าวที่ปรุงง่ายและกินง่าย ก็เป็นปัจจัยสำคัญเช่นกัน
สำหรับต้นกำเนิดของปีกไก่ไร้กระดูกในอเมริกา ทาง National Chicken Council ยกความดีความชอบให้เครือร้านอาหาร Buffalo Wild Wings ที่คิดค้นขึ้นเมื่อปี 2018 จากการจัดทำโพลล์สอบถามลูกค้าในตอนนั้น และพบว่า 40% ของลูกค้าที่ร้านชอบปีกไก่ไร้กระดูก ซึ่งเป็นกระแสที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
ด้านอเล็กซานดรา พลาเคียส อาจารย์จาก Hamilton College ในนิวยอร์ก และผู้เขียนหนังสือ Thinking Through Food: A Philosophical Introduction บอกว่าการใช้คำว่าปีกไก่เข้ามาเป็นการสะท้อนความสำคัญของซอสในปีกไก่ มากกว่าชิ้นปีกไก่จริง ๆ เช่นเมนู cauliflower wing ที่ทำจากกะหล่ำดอก ซึ่งหากรูปแบบภาษาที่พัฒนาขึ้นในอนาคต แนวคิดของการตั้งชื่อเมนูอาหารให้ดึงดูดผู้บริโภคก็จะเปลี่ยนไปเช่นกัน
จะกินหรือจะเลื่อนผ่าน?
มีหลายเมนูที่ใช้กิมมิกการตั้งชื่อเพื่อสร้างมูลค่าการตลาด อย่างเช่น ซูริมิ ซึ่งเป็นเนื้อปลาที่ทำเป็นปูอัดและลอปเตอร์อัดในท้องตลาดอเมริกัน ซึ่งปรากฎอยู่ในเมนูซูชิยอดฮิตของอเมริกาในชื่อ แคลิฟอร์เนีย โรลส์ ที่ขายกันทั่วประเทศ นอกจากนี้ ยังมี เบบี้ แครอท แครอทชิ้นเรียวเล็กพอดีคำ ซึ่งมาจากแครอทขนาดปกติที่ตัดแต่งให้มีขนาดเล็กน่ารักเท่านั้น และปลากระพงชิลี ซึ่งแท้ที่จริงไม่ใช่ปลากระพง แต่คือการรีแบรนด์ชื่อปลาเนื้อขาว Patagonian toothfish
- ที่มา: เอพี