งานมหกรรมวิถีวัฒนธรรมพื้นบ้านนานาชาติ หรือ Smithsonian Folklife Festival เป็นงานเทศกาลสำคัญในช่วงฤดูร้อนที่กรุงวอชิงตัน ในปีนี้มี 2 วัฒนธรรมจากคนละซีกโลกมาพบกันที่ใจกลาง National Mall สถานที่จัดงานในทุกปี
เสียงเพลงที่ถ่ายทอดมุมมองของ Bambu และ DJ Phatrick สองศิลปินเพลง Hip-Hop เชื้อสายเอเชียนอเมริกัน เป็นส่วนหนึ่งของความหลากหลาย ในซุ้มแสดงวัฒนธรรมจากฝั่งตะวันตกของอเมริกา ในโซนที่เรียกว่า Sounds of California หนึ่งใน 2 แนวคิดการจัดงานประจำปีนี้
ขณะที่อีกฟากหนึ่งมีเรื่องราวและวิถีชีวิตของชาวแคว้นบาสก์ จากประเทศสเปน ที่นำกิจกรรมพื้นบ้านมาสาธิตมากมาย เช่น การสอนพูดภาษาท้องถิ่น การแสดงดนตรี ศิลปะหัตถกรรมที่เป็นเอกลักษณ์จากผู้คนในเขตตอนเหนือของสเปน
แม้แนวคิดการนำเสนอกิจกรรมในงานมหกรรม Smithsonian Folklife Festival จะสับเปลี่ยนหมุนเวียนชุมชนจากทั่วโลกมาจัดแสดงในทุกๆ ปี แต่ในส่วนของอาหารการกินที่บริการในงานแล้ว กลับกลายเป็นซุ้มร้านอาหารไทยจากทีมงานคนไทย ที่ได้รับความไว้วางใจ ให้เป็นส่วนหนึ่งของงานใหญ่ของกรุงวอชิงตันมานับสิบปีแล้ว
คุณประสิทธิ์ พรมะแข้ หนึ่งในทีมงานที่ให้บริการอาหารและเครื่องดื่มคนไทย บอกว่า การได้รับความไว้วางใจ ให้มาบริการต่อเนื่อง ถือเป็นความภูมิใจของคนทำงานทุกคน ที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นตัวแทนขายอาหารไทย และการรักษามาตรฐานและคุณภาพของอาหารและเครื่องดื่ม คือเหตุผลสำคัญที่ ทำให้ได้รับความไว้วางใจในงานระดับชาติที่นครหลวงแห่งสหรัฐฯ
คุณประสิทธิ์บอกด้วยว่า “พยายามขายของให้ได้ระดับ รักษามาตรฐานของอาหาร แล้วก็น้ำผลไม้ต้องสด ขายได้อันดับ 1 ทุกปีด้วย”
งานมหกรรม Folklife Festival เป็นมหกรรมที่มีคนเข้าชมนับหลายแสน ตลอดระยะเวลาจัดงานราวๆ 2 สัปดาห์ของทุกปี
คุณ William Shafroth ชาวกรุงวอชิงตันที่ตอนนี้ไปอาศัยในต่างรัฐ บอกว่ารู้สึกประทับใจในการจัดงานเชิงวัฒธรรมแบบนี้อยู่เสมอ คุณ William บอกว่าเขาชื่นชอบมหกรรมนี้มาก และในปีนี้ถือว่าจัดงานได้ดี และรู้สึกประทับใจเรื่องราวชาวบาสก์ ที่มีการจัดการแสดงที่เยี่ยมมาก
ขณะเดียวกันคุณ Shafroth ก็ได้กินอาหารไทยที่จัดในงานนี้ด้วย และทุกครั้งที่กลับมากรุงวอชิงตัน เขาจะออกไปทานอาหารไทย เพราะเมืองนี้มีอาหารไทยที่อร่อยสุดในอเมริกา
งานนี้ถือเป็นงานด้านวัฒนธรรมที่ใหญ่ที่สุดในกรุงวอชิงตัน ที่ผ่านมากิจกรรมในงานเคยก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง และสร้างผลกระทบด้านนโยบายต่อหลากหลายประเทศ โดยเฉพาะการให้พื้นที่ชนกลุ่มน้อยในแต่ละท้องถิ่น ได้มีโอกาสนำเสนอเรื่องราวของตัวเองผ่านการแสดง
นอกจากนี้ยังถือเป็นแรงกระตุ้นให้หลากหลายชุมชน หาวิธีรักษาวัฒนธรรมไว้ เพื่อสืบทอดให้กับคนรุ่นต่อๆไป