นักวิจัยประมาณว่า 70% ของแนวปะการังของฟิลิปปินส์ถูกทำลายเสียหาย และ Nomer Varua หนึ่งในทีมงานของมหาวิทยาลัย Bataan Peninsula State ที่กำลังทำงานฟื้นฟูปะการัง กล่าวว่าเท่าที่ปรากฎ การทำงานของทีมงานชุดนี้ ได้ช่วยชักจูงนักท่องเที่ยวและส่งเสริมการประมงให้กับประเทศ ซึ่งคิดเป็นตัวเงินได้แล้วประมาณ 1.5 พันล้านดอลลาร์
นอกจากการสนับสนุนทั้งจากการปกครองท้องถิ่นและรัฐบาลแล้ว ทีมงานยังได้รับงบประมาณ และความช่วยเหลือจากกองทัพบกในการปกป้องบริเวณปะการังอีกด้วย
แต่ฟิลิปปินส์เป็นเพียงประเทศหนึ่งในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะในภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิคที่กำลังประสบปัญหาเรื่องปะการังถูกทำลาย หรือถูกคุกคามจากการกระทำของมนุษย์ ซึ่งรวมทั้งปัญหาภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลง การใช้ดินระเบิดหรือสารพิษในการประมง ปัญหามลภาวะ สภาพดินสึกกร่อน การท่องเที่ยวที่ไม่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และการทำเหมืองปะการัง
วิธีแก้ปัญหาของฟิลิปปินส์ ที่เรียกกันว่า “Filipinnovation” หรือนวัตกรรมของฟิลิปปินส์ คือการเพาะปะการัง และการโยกย้ายปะการังในบริเวณที่อุดมสมบูรณ์ไปปลูกในบริเวณที่ปะการังถูกทำลายเสียหาย
สำหรับการเพาะปะการังนั้น นักวิจัยในฟิลิปปินส์สร้างโครงเหล็กที่ดูแล้วเหมือนกรอบเตียง ทากาวให้ทั่วเพื่อกันสนิม แล้วนำปะการังจากธรรมชาติมาผูกติดไว้ โดยให้การดูแลเป็นเวลาหลายเดือน จนกระทั่งปะการังโตราวๆ 5-6 เซ็นติเมตรโดยเฉลี่ย จากนั้นนำปะการังที่เพาะไว้รวมกับปะการังตามธรรมชาติไปปลูกในระบบนิเวศที่ขาดแคลนปะการัง โดยใช้อุปกรณ์ง่ายๆ คือปูนน้ำมันหรือสารอุดรูใช้ในน้ำได้ ตะปู และสายรัดพลาสติก
ประมาณ 90% ของปะการังที่นำไปปลูกอยู่รอดและเติบโตต่อไปได้
องค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อม เช่น Nature Conservancy ได้ทดลองเพาะปะการังกับคอนกรีต และพบว่าได้ผลเช่นเดียวกัน
นักวิจัย Nomer Varua ย้ำว่า จะต้องแก้ปัญหาปะการังถูกทำลายเสียหายกันให้ได้ เพราะปะการังเป็นระบบนิเวศน์ที่มีผลิตภาพสูงที่สุดในโลก
ทีมงานในฟิลิปปินส์ชุดนี้ยังมีความหวังด้วยว่า เมื่อโครงการทดลองนี้สิ้นสุดลง อาจกระตุ้นให้เกิดอุตสาหกรรมฟิ้นฟูปะการังขึ้นมาได้ด้วย