ปลายด้านใต้ของแนวปะการัง Great Barrier Reef ในออสเตรเลียได้รับความเสียหายจากมรสุมรุนแรงครั้งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงสิบปีแรกของศตวรรษนี้บรรดานักวิทยาศาสตร์ชี้ว่าแนวปะการัง Great Barrier Reef ซึ่งมีขนาดเท่ากับประเทศอิตาลี ต้องการระยะเวลาอย่างน้อย 20 ปีของสภาพอากาศที่ไร้มรสุมในการฟื้นคืนอย่างสมบูรณ์
การได้รับสารอาหารที่เกินพอดีเนื่องจากภาวะน้ำท่วม และมลพิษจากการเกษตรที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมส่งผลให้เกิดปัญหาปะการังเปลี่ยนเป็นสีขาวและยังช่วยให้ปลาดาวพันธุ์ crown of thorns ซึ่งกินปะการังเป็นอาหารเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว
ทางการออสเตรเลียยังวางแผนขยายท่าเรือ Gladstone ที่ตั้งอยู่ใกล้กับแนวปะการังเพื่อรองรับการส่งออกถ่านหินที่เพิ่มขึ้น แผนขยายท่าเรือนี้สร้างความไม่พอใจแก่บรรดานักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม นี่เป็นเหตุให้ Greenpeace และ World Wildlife Fund (WWF) เคลื่อนไหวเรียกร้องให้ UNESCO ระบุให้แนวปะการังยักษ์ Great Barrier Reef เป็นเขตเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์
ความไม่พอใจจากสาธารณชนส่งผลให้ทางการออสเตรเลียประกาศแผนอนุรักษ์แนวปะการังยักษ์แบบยั่งยืนโดยตั้งงบประมาณไว้ 1,500,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯตลอดช่วง 10 ปีข้างหน้า
ทางการออสเตรเลียวางแผนที่จะปรับปรุงคุณภาพของน้ำให้ดีขึ้นอย่างรวดเร็ว ด้วยการลดปริมาณสารไนโตรเจนชนิดที่ไม่ใช่สารอินทรีย์ที่ปล่อยจากพื้นที่การเกษตรให้ลดลง 80 เปอร์เซ็นต์ภายในปีค.ศ. 2025
นาย Steve Miles รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมระดับรัฐจาก Queensland กล่าวว่าแผนอนุรักษ์ของรัฐบาลออสเตรเลียได้รับแรงสนับสนุนจากประชาชนจากหลายกลุ่ม รวมทั้งคนเผ่าพื้นเมืองเผ่าต่างๆ ชาวนา นักวิทยาศาสตร์และการท่าเรือ
เขากล่าวว่าตอนที่ประชุมครั้งแรกกับกองทุนอนุรักษ์สัตว์ป่าเพื่อประชุมกันว่าจำเป็นต้องทำอะไรบ้างเพื่ออนุรักษ์แนวปะการังยักษ์ Great Barrier Reef ที่ประชุมชี้ว่าแม้ว่าภาวะโลกร้อนเป็นปัจจัยสำคัญอันดับแรก ปัญมลพิษก็เป็นสาเหตุอีกอย่างหนึ่งที่ต้องได้รับการแก้ไขและควรได้รับการแก้ไขเสียก่อนเป็นอันดับแรก
ภาวะโลกร้อนเป็นต้นเหตุแรกที่ทำให้แนวปะการังเสียหาย โดยคาดว่าระดับอุณหภูมิจะเพิ่มขึ้น 2 ถึง 4 องศาเซลเซียสภายในปีค.ศ. 2050
แต่นาย Russell Reichelt ผู้อำนวยการแห่งอุทยาน Great Barrier Reef Marine Park กล่าวว่าควรแยกปัจจัยที่เกิดจากภาวะโลกร้อนออกเป็นคนละประเด็นกันกับปัญหามลพิษทางน้ำ เขากล่าวว่าภาวะโลกร้อนคุกคามความอยู่รอดของแนวปะการังมากที่สุดในระยะยาวเพราะทำให้น้ำทะเลอุ่นขึ้นและเป็นกรดสูงขึ้น แต่ปัญหามลพิษจากบนฝั่งที่ปล่อยลงสู่น้ำทะเลก็เป็นปัจจัยที่สร้างความกังวลเป็นอันดับสองไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลงและการพังทลายของดินจากการเกษตรที่ทำกันมานาน 150 ปี
ปลายด้านเหนือของแนวปะการัง Great Barrier Reef ยังสมบูรณ์ดี และทาง WWF ได้สนับสนุนแผนของทางการออสเตรเลียและเป้าหมายที่มุ่งฟื้นฟูปลายด้านใต้ของแนวปะการังยักษ์ แต่ชี้ว่าผิดหวังที่ทางการออสเตรเลียให้งบประมาณในแผนนี้น้อยกว่าที่คาดหวังเอาไว้
ทางกลุ่ม Greenpeace ชี้ว่าแผนฟื้นฟูของทางการออสเตรเลียยังไม่ครอบคลุมปัญหาทั้งหมดและยังอะลุ่มอล่วยให้มีการขยายท่าเรือพานิชย์และขยายการทำเหมืองถ่านหิน
คณะกรรมการมรดกโลกแห่งยูเนสโกประกอบด้วย 21 ประเทศและมีเยอรมนีเป็นประธาน มีกำหนดที่จะตัดสินใจเบื้องต้นเกี่ยวกับสถานภาพของแนวปะการังยักษ์ Great Barrier Reef ในเดือนพฤษภาคมนี้ ก่อนที่จะประชุมกับรอบสุดท้ายที่เมือง Bonn ในเดือนมิถุนายน