อังกฤษและประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่เป็นสมาชิกเครือจักรภพอีก 4 ประเทศ ร่วมกันประกาศแผนการขยายและปัดฝุ่นสนธิสัญญาด้านความมั่นคงที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อ 51 ปีก่อนขึ้นมาอีกครั้ง
รายงานข่าวระบุว่า ประเทศที่เข้าร่วมกับอังกฤษในการฟื้นฟูข้อตกลงที่ชื่อว่า Five Powers Defense Agreements (FPDA) นี้ประกอบด้วย มาเลเซีย สิงคโปร์ นิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย
ภายใต้ข้อตกลงนี้ทั้ง 5 ประเทศสัญญาที่จะทำการปรึกษาซึ่งกันและกันในกรณีที่เกิดเหตุภัยคุกคามในรูปของการโจมตีโดยอาวุธต่อประเทศสมาชิก FPDA และจะทำการตัดสินใจร่วมกันเกี่ยวกับมาตรการที่จะนำมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินการแบบร่วมกัน หรือแยกกันก็ตาม
อย่างไรก็ดี ข้อตกลงนี้ไม่ได้มีการระบุอย่างชัดเจนเกี่ยวกับการใช้กำลังทหารเข้าแทรกแซงไม่ว่าในกรณีใด ๆ
ข้อตกลง FPDA นี้ถูกจัดทำขึ้นในปี ค.ศ. 1971 หลังจากที่สหราชอาณาจักรยกเลิกการรับรองด้านกลาโหมที่เคยเป็นที่รู้จักกันในชื่อ ข้อตกลง มาลายา (Malaya)
แนวคิดปัดฝุ่นข้อตกลงดังกล่าวถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยระหว่างการประชุมมื้อเช้าของรัฐมนตรีกลาโหมจาก 5 ประเทศสมาชิก FPDA ในช่วงการจัดงาน แชงกรี-ลา ไดอะล็อก (Shangri-La Dialogue) ซึ่งเป็นการประชุมด้านความมั่นคงประจำปีของกลุ่มประเทศเอเชียเมื่อสัปดาห์ก่อน
กระทรวงกลาโหมสิงคโปร์ออกแถลงการณ์ที่ระบุว่า รัฐมนตรีกลาโหม FPDA ได้หารือหนทางที่จะทำงานร่วมกันให้มากขึ้น พร้อม ๆ กับขยายความร่วมมือในรูปแบบอื่น ๆ เพื่อให้ทางกลุ่มสามารถรับมือกับความท้าทายด้านความมั่นคงที่มีอยู่ได้อย่างทันท่วงที รวมทั้งมีการหารือบทบาทสำคัญของ FPDA ในการสร้างความเชื่อมั่น การส่งเสริมความสงบเรียบร้อยระหว่างประเทศตามบทบัญญัติของกฎระเบียบทั้งหลาย และการให้ความเชื่อมั่นต่อทุกฝ่ายในช่วงที่มีความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์อย่างมากเช่นในปัจจุบัน
ส่วน ฮิชามมุดดิน ฮุสเซน รัฐมนตรีกลาโหมอาวุโสของมาเลเซีย กล่าวว่า ตนได้แสดงความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ไม่ได้มีใครตั้งใจจะให้เกิดขึ้นทั้งหลาย ซึ่งอาจขยายวงจนเกินควบคุม ในระหว่างการเข้าประชุมดังกล่าว ซึ่งรายงานข่าวชี้ว่า แม้จะไม่ได้ระบุชื่อประเทศใดอย่างเฉพาะเจาะจง สิ่งที่ทุกฝ่ายเข้าใจก็คือ เรื่องของการที่จีนอาจส่งกำลังเข้าโจมตีไต้หวัน และการยิงทดสอบขีปนาวุธของเกาหลีเหนือนั่นเอง
นอกจากตัวแทนจากสิงคโปร์และมาเลเซียแล้ว ริชาร์ด มาร์ลส รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกลาโหมออสเตรเลีย กล่าวยืนยันว่า ออสเตรเลียมีความมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับสมาชิก FPDA อย่างเต็มที่ พร้อมเปิดเผยว่า ทางกลุ่มกำลังพิจารณาการดำเนินนโยบายด้านการต่อต้านการก่อการร้ายและการดูแลด้านความมั่นคงทางทะเล รวมทั้งกรณีปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนและห่วงโซ่อุปทานด้วย
ทั้งนี้ นอกจากประเด็นไต้หวันและเกาหลีเหนือแล้ว กลุ่ม FPDA ยังได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จากกรณีที่จีนเดินหน้าอ้างอธิปไตยของตนในเขตทะเลจีนใต้ด้วย
-
ที่มา: วีโอเอ