ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นายกฯ ญี่ปุ่น ประกาศความพร้อมขยายบทบาทส่งเสริมความมั่นคงในเอเชีย


Japan's Prime Minister Fumio Kishida delivers the keynote address at the opening dinner of the 19th Shangri-La Dialogue in Singapore, June 10, 2022.
Japan's Prime Minister Fumio Kishida delivers the keynote address at the opening dinner of the 19th Shangri-La Dialogue in Singapore, June 10, 2022.

นายกรัฐมนตรี ฟูมิโอะ คิชิดะ แห่งญี่ปุ่น เปิดเผยแผนที่จะส่งเสริมความสามารถทางทหารของประเทศ และช่วยเหลือประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เสริมสร้างความมั่นคงทางทะเล

คำประกาศของผู้นำญี่ปุ่นที่มีออกมาในวันศุกร์ เป็นส่วนหนึ่งของคำปราศรัยก่อนร่วม แชงกรี-ลา ไดอะล็อก (Shangri-La Dialogue) ซึ่งเป็นการประชุมด้านความมั่นคงประจำปีของกลุ่มประเทศเอเชีย ที่สิงคโปร์เป็นเจ้าภาพในปีนี้

นายกฯ คิชิดะ ระบุว่า “ยูเครน อาจเป็นเอเชียตะวันออกในวันพรุ่งนี้” ซึ่งเป็นคำกล่าวเชิงเปรียบเทียบเพื่อชี้ว่า ประเด็นของไต้หวันอาจกลายมาเป็นภัยคุกคามแบบปัจจุบันทันด่วนต่อความสันติสุขของเอเชียตะวันออก

ผู้นำญี่ปุ่นยังเปิดเผยด้วยว่า รัฐบาลกรุงโตเกียวมีแผนที่จะจัดหาซื้ออาวุธต่อต้านการโจมตีใหม่ ๆ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการรับมือการโจมตีใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ก่อนจะกล่าวว่า “วิสัยทัศน์สำหรับสันติภาพของคิชิดะ จะช่วยเสริมสร้างงานด้านการทูตและความมั่นคงของญี่ปุ่น”

ทั้งนี้ สื่อ Global Times ซึ่งเป็นของรัฐบาลจีน ออกมาวิพากษ์วิจารณ์แนวคิดริเริ่มของญี่ปุ่นผ่านบทความแสดงความคิดเห็นซึ่งได้รับการตีพิมพ์ก่อนที่นายกรัฐมนตรี คิชิดะ จะขึ้นกล่าวปราศรัย โดยระบุว่า “ญี่ปุ่นใช้ข้ออ้างเกี่ยวกับ ‘การป้องกันวิกฤตเช่นเดียวกับ วิกฤตรัสเซีย-ยูเครน ไม่ให้เกิดขึ้นในเอเชีย’ เพื่อปูทางให้กับความชอบธรรมสำหรับตนในการสมรู้ร่วมคิดกับนาโต้ และชักชวนให้ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเชื่อเช่นเดียวกันตน เพียงเพื่อพุ่งเป้าการโจมตีมายังจีน”

นอกจากประเด็นดังกล่าวแล้ว ผู้นำญี่ปุ่นยังแสดงความกังวลเกี่ยวกับเกาหลีเหนือ ซึ่งทำการยิงทดสอบขีปนาวุธมาแล้วถึง 18 รอบนับตั้งแต่ต้นปีมา เพื่อแสดงคลังสรรพาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธของตนที่มีวิวัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับแสดงความผิดหวังต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่ไม่สามารถทำการใด ๆ ต่อกรุงเปียงยางได้ เนื่องจากมีสมาชิกบางประเทศสามารถใช้ออกเสียงยังยั้งมติได้

รายงานข่าวระบุว่า เวลานี้ มีการถกเถียงกันอย่างหนักในญี่ปุ่นเกี่ยวกับการที่รัฐบาลจัดสรรงบประมาณ 2% ของประเทศเพื่อกิจการด้านทหาร โดยนักวิเคราะห์มองว่า การดำเนินแผนงานดังกล่าวเป็นความพยายามของรัฐบาลกรุงโตเกียวที่จะก้าวออกมาให้พ้นเงาของสหรัฐฯ หลังเลี่ยงไม่จัดสรรงบทหารมานานนับตั้งแต่การสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 2

  • ที่มา: วีโอเอ

XS
SM
MD
LG