ลิ้งค์เชื่อมต่อ

สงครามรัสเซีย-ยูเครน...ผลลัพธ์ของแผนโฆษณาชวนเชื่ออย่างหนักของเครมลิน


Cover of VOA Thai special report of 1st anniversary of War in Ukraine
Cover of VOA Thai special report of 1st anniversary of War in Ukraine

สงครามในยูเครนที่เกิดขึ้นจากการรุกรานของกองทัพรัฐบาลมอสโกกำลังจะถึงวันครบรอบ 1 ปีในสัปดาห์นี้ นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงมากมายภายในประเทศรัสเซียเอง แม้ยังมีประชากรบางส่วนของประเทศที่ยังสนับสนุนสิ่งที่เครมลินอ้างว่าเป็น “ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร” เพื่อปกป้องความมั่นคงของรัสเซียอยู่ ขณะที่ หลายคนได้แต่สงสัยว่า อะไรคือสาเหตุที่ทำให้ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ตัดสินใจยกระดับความขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้านเล็ก ๆ ด้วยการใช้กำลังทางทหาร

Danila Galperovich, International Multimedia Journalist, talking with VOA Thai
Danila Galperovich, International Multimedia Journalist, talking with VOA Thai

ดานิลา กาลเปโรวิช ผู้สื่อข่าว วีโอเอ ภาคภาษารัสเซีย ซึ่งติดตามความเป็นไปของสงครามในยูเครนมาโดยตลอด อธิบายว่า ในช่วงปีที่ผ่านมา ชาวรัสเซียเองอาจถูกแบ่งออกเป็นคน 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่สนับสนุนสงครามที่มีสัดส่วนราว 20-25% กลุ่มที่ต่อต้านสงครามอย่างชัดเจน ซึ่งอาจคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 20% ของประชากรรัสเซีย และที่เหลือคือกลุ่มที่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น และอาจลังเลหรือไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เครมลินทำ แต่ไม่กล้าออกมาแสดงความคิดเห็น

กาลเปโรวิช อธิบายว่า “ตั้งแต่ปี 2014 ที่รัสเซียผนวกคาบสมุทรไครเมีย เหมือนที่ทำกับดอนบาสในครั้งนี้ อย่างผิดกฎหมายเข้ากับตนเอง รัฐบาลรัสเซียเดินหน้าอย่างไม่หยุดยั้งเตรียมตัวชาวรัสเซียให้พร้อมรบ และป้อนข้อมูลโฆษณาชวนเชื่อให้อย่างไม่หยุดหย่อน เพื่อให้ทุกคนยอมโอนอ่อนน้อมรับสงคราม โดยเฉพาะในยูเครน ที่มีการใช้ภาษาซึ่งสร้างความเกลียดชัง และพูดถึงการรุกรานตลอดเวลา เป็นเวลาถึง 8 ปีก่อน เพื่อเตรียมตัวเป็นเวลานานมาก ๆ อย่างน้อยให้ประชากรรัสเซียบางส่วนของประเทศยอมรับสงครามนี้”

เมื่อถามว่า อะไรคือเหตุผลที่ทำให้กลุ่มที่สนับสนุนสงครามในยูเครนเชื่อว่า สิ่งที่ปธน.ปูติน สั่งดำเนินการนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ผู้สื่อข่าว วีโอเอ ภาคภาษารัสเซีย ระบุว่า “แผนงานโฆษณาชวนเชื่อของรัสเซียทำให้คนยูเครนกลายมาเป็นพวกที่คนรัสเซียเกลียดชังที่สุด อันเป็นส่วนผสมระหว่างการพร่ำบอกผู้คน โดยเฉพาะคนแก่สูงอายุ ว่า พวกยูเครนนั้นเป็นพวกนาซี และว่า ยูเครนเป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบนาซี ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าขันอย่างที่สุด เพราะเราต่างรู้ว่า ปธน.โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ของยูเครนนั้นมีเชื้อสายยิว”

US President Joe Biden, left, and Ukrainian President Volodymyr Zelenskyy walk during an unannounced visit in Kyiv, Ukraine, Feb. 20, 2023. (Ukrainian Presidential Press Office via AP)
US President Joe Biden, left, and Ukrainian President Volodymyr Zelenskyy walk during an unannounced visit in Kyiv, Ukraine, Feb. 20, 2023. (Ukrainian Presidential Press Office via AP)

เขายังบอกด้วยว่า “ทั้งหมดนี้ เราบอกได้เพียงว่า ในช่วง 8 ปีก่อนหน้า มีการผสมผสาน ดำเนินการสิ่งที่เราเรียกว่า สงครามลูกผสม ที่ทำการจำกัดการทำงานของสื่ออิสระของรัสเซียและสื่อตะวันตก พร้อม ๆ กับการเผยแพร่ข้อมูลโฆษณาชวนเชื่อตลอด 24 ชั่วโมงต่อวัน

คุณจะนึกภาพไม่ออกเลยว่า ชีวิตชาวรัสเซียต้องพบกับการดำเนินแผนงานโฆษณาชวนเชื่อขนาดไหน คุณลองนึกดูว่า คุณกลับมาถึงบ้าน และนั่งลงทานข้าวเย็น แล้วเปิดทีวี เพื่อให้บ้านไม่เงียบไป แต่สิ่งที่คุณได้ยิน ทุกวัน ระหว่างทานข้าวเย็นทุกครั้ง คุณจะได้ยินว่า “คนยูเครนเป็นพวกนาซี” “พวกเขาเป็นภัยต่อพวกเรา” “พวกเขายึดดินแดนเราไป” “พวกเขากดขี่ผู้คนในดอนบาส” และอื่น ๆ”

สำหรับผู้ที่ไม่ได้สนับสนุนสงครามนี้ หลายคนก็มีความลังเลใจ เนื่องจากการอัดฉีดข้อมูลจากเครมลิน ซึ่งกาลเปโรวิช อธิบายว่า “สำหรับคนกลุ่มนี้ เรื่องของข่าวสารข้อมูลเป็นประเด็นที่ค่อนข้างคลุมเครือ และข้อมูลต่าง ๆ ก็ไม่ค่อยชัดเจน และพวกเขามักคิดว่า มันไม่ใช่เรื่องของความจริงเพียงด้านเดียว แต่มีความจริงหลายด้าน ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นฝีมือของรัฐบาลรัสเซียที่ทำการอัดฉีดเข้าไปในความคิดของคนรัสเซีย ทำให้หลายคนคิดว่า ‘เรื่องจริงคงพิสูจน์ได้ยาก มันเป็นประเด็นที่คลุมเครือ แล้วพวกอเมริกันก็โกหกเหมือนกัน’”

สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ยังกลายมาเป็นลิ่มที่ทำให้เกิดความแตกแยกในหมู่ชาวรัสเซียจำนวนมาก เพราะมีหลายครอบครัวที่มีสมาชิกอยู่ในรัสเซียและในยูเครน โดยฝ่ายแรกจะแสดงจุดยืนไม่เชื่ออีกฝ่ายที่บอกว่า กองทัพรัสเซียยิงถล่มยูเครนอย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกัน การที่รัสเซียประเมินสถานการณ์ผิด จนไม่สามารถรวบรัดการทำสงครามได้ตามแผน ส่งผลต่อเสียงสนับสนุนหรือเสียงเงียบของชาวรัสเซียต่อสงครามครั้งนี้บ้างแล้ว โดยเฉพาะหลังจากปธน.ปูติน สั่งให้มีการเกณฑ์ทหารระดมพลเพิ่มมาช่วยรบ ซึ่งทำให้คนจำนวนมากที่เห็นต่างจากรัฐบาลพากันหลบซ่อนหรือแม้แต่ละทิ้งบ้านเกิดกันมากมายแล้ว ซึ่ง กาลเปโรวิช บอกว่า มีการประเมินว่า ผู้คนราวครึ่งล้านน่าจะเดินทางออกจากรัสเซียไปแล้ว ขณะที่ ตัวเลขที่แท้จริงอาจสูงถึง 2 ล้านคนก็เป็นได้ และหลายคนซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีความรู้ มีจุดยืนสนับสนุนชาติตะวันตก ทั้งยังมีหัวก้าวหน้า อาจไม่เดินทางกลับมาที่รัสเซียอีกก็เป็นได้

นอกจากประเด็นทางสังคมแล้ว บทบาทของสื่อในรัสเซียเป็นสิ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงตลอดปีที่ผ่านมา เพราะมีสื่อหลายแห่งที่พยายามนำเสนอข่าวตามความเป็นจริงถูกทางการรัสเซียสั่งปิดไป ขณะที่ สื่อจากชาติตะวันตกก็ไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงานในรัสเซีย จนมีแต่สื่อของรัฐบาลที่รายงานประเด็นเกี่ยวกับสงครามตามมุมมองของเครมลิน

ถึงกระนั้น ผู้สื่อข่าว วีโอเอ ภาคภาษารัสเซีย กล่าวว่า ภายใต้สภาพการณ์ดังกล่าว สื่ออิสระจำนวนมากยังสามารถทำหน้าที่ของตนผ่านอินเทอร์เน็ตได้อยู่ โดยระบุว่า “อาจฟังดูแล้วย้อนแย้ง แต่ปัจจุบันคือช่วงที่ สื่อมวลชนอิสระของรัสเซียกำลังเบ่งบาน ... เรามีรายงานเชิงสืบสวนผู้สนับสนุน หรือพวกพ้อง(ของปูติน) เกี่ยวกับเรื่องเงินทอง แหล่งที่มา(ของทุน)สนับสนุนการทำสงคราม และทุกอย่างเลย ทั้งหมดนี้มาจากผู้สื่อข่าวที่ต้องเดินทางออกจากรัสเซีย พวกเขาก็ยังรายงานข่าวเกี่ยวกับรัสเซีย”

ต่อคำถามที่ว่า ทำไมผู้นำรัสเซียถึงตัดสินใจส่งทัพรุกรานยูเครน ผู้สื่อข่าววีโอเอ ภาคภาษารัสเซีย กล่าวว่า มีอยู่หลายทฤษฏี ทั้งเรื่องการยึดถือระบอบจักรวรรดินิยม ความฝันที่จะสร้างรัสเซียให้ยิ่งใหญ่เหมือนยุคอดีตสหภาพโซเวียต และความเกลียดชังต่อระบอบประชาธิปไตยที่ปธน.ปูตินมองว่า เป็นสิ่งที่โลกตะวันตกใช้เป็นเครื่องมือสร้างความไม่สงบในประเทศ รวมทั้งความพยายามในการเบี่ยงเบนความสนใจในประเทศที่ก่อตัวขึ้นหลังทำการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ตนเองสามารถอยู่ในอำนาจได้ตลอดไป

Danila Galperovich, International Multimedia Journalist
Danila Galperovich, International Multimedia Journalist

สำหรับสหรัฐฯ ที่มีส่วนร่วมในสงครามครั้งนี้มาตลอด กาลเปโรวิช บอกว่า ในสายตาคนรัสเซียแล้ว “(คนอเมริกัน) เป็นศัตรู คือ อาจเป็นเหมือน ๆ กับคนยูเครน ดังที่ข้อมูลโฆษณาชวนเชื่อพยายามพร่ำบอกว่า ‘เราไม่ได้กำลังสู้กับยูเครน เรากำลังสู้กับชาติตะวันตกโดยรวม โดยเฉพาะกับสหรัฐอเมริกา เพราะสหรัฐฯ คือประเทศที่สนับสนุนยูเครน’ ขณะที่ แผนงานโฆษณาชวนเชื่อของรัสเซียยังอ้างด้วยว่า ชาวยูเครนเห็นด้วยกับข้อเสนอเจรจาสันติภาพ แต่สหรัฐฯ กลับสนับสนุนให้ยูเครนลุกขึ้นมาสู้ ... แต่ก็น่าแปลกใจที่ว่า หลายคนที่วิพากษ์วิจารณ์ปูตินนั้น มองสหรัฐฯ ว่าเป็นแรงต้านเดียวที่น่าจะช่วยยูเครนให้ชนะ หรือไม่ก็รับมือกับการรุกรานครั้งนี้ได้

China Russia
China Russia

ท้ายสุด เมื่อถามว่า มองอนาคตของสงครามเป็นไปอย่างไร กาลเปโรวิช ให้ความเห็นว่า “หลายคนบอกว่า อย่าทำให้ปูตินจนมุม อย่าทำให้เขาต้องเข้าตาจนถึงที่สุด ผมคิดว่า ในเวลานี้ สหรัฐฯ และพันธมิตรทั้งหลายทำดีอย่างมากแล้ว ในการสนับสนุนยูเครน และไม่ยั่วยุให้ปูตินต้องใช้อาวุธพวกนิวเคลียร์ ซึ่งรวมถึงอาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธวิธี ... และตัวปูตินเองน่าจะพอเข้าใจว่า ตนเองอาจสูญเสียจีนในฐานะผู้สนับสนุน ถ้าเขาตัดสินใจใช้นิวเคลียร์ (ซึ่งรวมถึง) อาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธวิธี” พร้อม กล่าวว่า การสู้รบนี้น่าจะยืดเยื้อไปอีกนาน แต่ไม่คิดว่า จะจบลงด้วยชัยชนะของรัสเซีย และยูเครนน่าจะสามารถยึดคืนอาณาเขตของตนกลับมาได้ ยกเว้นแต่ในกรณีของแคว้นไครเมียที่ต้องจับตาดูต่อไป

  • ที่มา: วีโอเอ

XS
SM
MD
LG