ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน ประกาศระงับการเข้าร่วมในสนธิสัญญานิว สตาร์ท (New START treaty) ซึ่งเป็นสนธิสัญญาฉบับสุดท้ายระหว่างสหรัฐฯ กับรัสเซีย ที่มีเป้าหมายควบคุมอาวุธนิวเคลียร์ของสองประเทศ
สองประเทศร่วมลงนามในสนธิสัญญาดังกล่าวเมื่อปี 2010 โดยมีการจำกัดหัวรบนิวเคลียร์ประจำการของทั้งสองฝ่ายให้ไม่เกิน 1,550 ลูก โดยสนธิสัญญานี้จะหมดอายุลงในปี 2026
ประธานาธิบดีปูตินกล่าวปราศรัยที่รัฐสภาในวันอังคารว่า รัสเซียจะยังไม่ถอนตัวออกจากสนธิสัญญานิว สตาร์ท ในตอนนี้ แต่รัสเซียควรเตรียมการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์อีกครั้ง หากสหรัฐฯ ทำเช่นเดียวกัน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคน เรียกคำประกาศของประธานาธิบดีปูตินว่า "น่าเสียดายและไร้ความรับผิดชอบอย่างยิ่ง" และ "สหรัฐฯ จะจับตามองสิ่งที่รัสเซียทำอย่างใกล้ชิด เราจะรับรองว่าไม่ว่าในกรณีใด ๆ เราจะกระทำการอย่างเหมาะสมเพื่อความมั่นคงปลอดภัยของประเทศและพันธมิตรของเรา"
บลิงเคนยืนยันว่า สหรัฐฯ พร้อมที่จะเจรจากับรัสเซียว่าด้วยเรื่องการจำกัดอาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธศาสตร์นี้ตลอดเวลา แม้แต่ในเวลานี้ที่พันธมิตรชาติตะวันตกที่นำโดยสหรัฐฯ กำลังส่งอาวุธให้แก่ยูเครนเพื่อใช้ในการต่อสู้กับรัสเซียก็ตาม
รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวว่า เป็นผลประโยชน์ด้านความมั่นคงต่อทั้งสองประเทศในการควบคุมคลังอาวุธนิวเคลียร์ และ "เป็นสิ่งที่ทั่วโลกคาดหวังจากเรา"
ด้านเลขาธิการองค์การนาโต้ เยนส์ สโตลเทนเบิร์ก กระตุ้นให้ปูตินทบทวนการตัดสินใจนี้ใหม่อีกครั้ง และว่า "อาวุธนิวเคลียร์ที่เพิ่มขึ้นและการควบคุมที่ลดลงจะทำให้โลกนี้อันตรายมากกว่าเดิม"
- ข้อมูลบางส่วนจากเอพี และรอยเตอร์