ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน เยือนโปแลนด์ในวันอังคาร หนึ่งวันหลังจากเยือนกรุงเคียฟโดยไม่มีการประกาศล่วงหน้า โดยผู้นำสหรัฐฯ กล่าวปราศรัยที่พระราชวังกรุงวอร์ซอว์เนื่องในโอกาสครบรอบหนึ่งปีเหตุการณ์รัสเซียส่งกำลังทหารบุกยูเครน เน้นย้ำสนับสนุนกองทัพยูเครนปกป้องประเทศจากรัสเซีย
เจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ กล่าวว่า คำปราศรัยของประธานาธิบดีไบเดนเป็นการต่อยอดจากสิ่งที่ผู้นำสหรัฐฯ กล่าวไว้ ณ ที่เดียวกันนี้เมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้ว ซึ่งถือเป็นการตอบคำถามเกี่ยวกับความยึดมั่นของสหรัฐฯ ต่อหลักการพื้นฐานเรื่องการสนับสนุนยูเครนและองค์การนาโต้
ไบเดนเริ่มการเยือนโปแลนด์ครั้งที่สองในรอบหนึ่งปีด้วยการพบกับประธานาธิบดีโปแลนด์ อันด์แซย์ ดูดา และได้ย้ำถึงพันธกิจของสหรัฐฯ ต่อหลักการว่าด้วยการร่วมป้องกันประเทศสมาชิกของนาโต้ ในกรณีที่รัสเซียขยายขอบเขตของสงครามและโจมตีโปแลนด์
ที่ผ่านมา รัฐบาลโปแลนด์จัดหาความช่วยเหลือทางทหารและมนุษยธรรมให้แก่ยูเครนมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ และยังต้อนรับผู้ลี้ภัยชาวยูเครนหลายแสนคน
ปธน.ไบเดนยังได้ยืนยันส่งความช่วยเหลือทางทหารให้แก่ยูเครน "ตราบเท่าที่จำเป็น" รวมถึงความช่วยเหลือเพิ่มเติมมูลค่า 460 ล้านดอลลาร์ที่ประกาศไว้ระหว่างการเยือนกรุงเคียฟเมื่อวันจันทร์ ซึ่งทำให้ความช่วยเหลือทั้งหมดที่สหรัฐฯ จัดส่งให้แก่ยูเครนจนถึงขณะนี้มีมูลค่าเกิน 40,000 ล้านดอลลาร์แล้ว
สัญลักษณ์ทางภูมิศาสตร์การเมืองโลก
การปราศรัยของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ณ กรุงวอร์ซอว์ในวันอังคาร ในโอกาสครบรอบหนึ่งปีสงครามยูเครน ถือเป็นสัญลักษณ์สำคัญด้านภูมิศาสตร์การเมืองโลก เมื่อพิจารณาว่า โปแลนด์เคยเป็นหนึ่งใน 'ประเทศหลังม่านเหล็ก' ผู้ร่วมลงนามใน 'สนธิสัญญากรุงวอร์ซอว์' เมื่อปี 1955 ร่วมกับสหภาพโซเวียตในขณะนั้น และประเทศในยุโรปตะวันออกอื่น ๆ เพื่อคานอำนาจทางทหารของชาติตะวันตก ก่อนที่สนธิสัญญาดังกล่าวจะยกเลิกไปเมื่อปี 1991
เอียน เลสเซอร์ รองประธาน German Marshall Fund กล่าวกับวีโอเอว่า "การที่ประธานาธิบดีไบเดนกล่าวปราศรัย ณ สถานที่ลงนามสนธิสัญญาวอร์ซอว์ซึ่งเป็นจุดกำเนิดสงครามเย็น จะไม่เลือนหายไปจากความคิดของผู้ที่เฝ้ามองอยู่ โดยเฉพาะชาวรัสเซีย"
"โปแลนด์อยู่ในแนวหน้าและจะคงอยู่เช่นนั้นไม่ว่าสงครามในยูเครนจะออกมาในรูปแบบใด โปแลนด์มีความสำคัญในฐานะพันธมิตรผู้ป้องกันการรุกราน และยังเป็นศูนย์กลางการขนส่งความช่วยเหลือไปยังยูเครน" เลสเซอร์กล่าว
ต่อจากนี้ ไบเดนจะพบหารือกับบรรดาผู้นำองค์การนาโต้จากกลุ่มบูคาเรสต์ ไนน์ (Bucharest Nine) หรือ B-9 ซึ่งประกอบด้วย บัลแกเรีย เอสโตเนีย สาธารณรัฐเชก ฮังการี ลัตเวีย ลิทัวเนีย โปแลนด์ โรมาเนีย และสโลวะเกีย ซึ่งล้วนรู้สึกถึงภัยคุกคามจากรัสเซียและพยายามผลักดันการตอบโต้ทางทหารต่อกรุงมอสโก
- ที่มา: วีโอเอ