สื่อต่างประเทศเกาะติดกรณีที่อัยการสูงสุดของไทย สั่งฟ้องนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
รอยเตอร์รายงานว่า โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวในวันพุธตามเวลาท้องถิ่นว่า นายทักษิณ มีกำหนดต้องปรากฎตัวต่อศาลในวันที่ 18 มิถุนายนนี้ เพื่อรับฟังข้อกล่าวหา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 (ม.112) ด้านนายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความส่วนตัวของอดีตนายกฯ ผู้นี้ กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่านายทักษิณไม่สามารถปรากฏตัวต่อศาลได้ตามนัดหมายในวันที่ 29 พฤษภาคมเนื่องจากติดโควิด-19
นายทักษิณ ชินวัตร ถูกฟ้องในข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ จากการให้สัมภาษณ์ที่กรุงโซล เกาหลีใต้เมื่อปี 2015 และถูกฟ้องในกฎหมายพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์อีกด้วย ตามการเปิดเผยของสำนักงานอัยการสูงสุดของไทย
อดีตนายกรัฐมนตรีไทยวัย 74 ปี กลับมายังประเทศไทยหลังลี้ภัยอยู่ต่างประเทศ 15 ปี เพื่อรับโทษจำคุก 8 ปี ก่อนที่จะได้รับการลดโทษเหลือเพียง 1 ปี ตามมาด้วยการได้รับอิสรภาพจากการพักโทษในเวลาต่อมา
โดยการกลับมาไทยของเขาเกิดขึ้นในช่วงที่พรรคเพื่อไทยได้ขึ้นเป็นรัฐบาล แม้จะได้รับคะแนนเสียงจากประชาชนตามหลังพรรคก้าวไกลมาเป็นอันดับ 2 ในการเลือกตั้งเมื่อปีก่อนก็ตาม ขณะที่การกลับมาของเขาอย่างราบรื่นและการถูกคุมขังในเวลาอันสั้น ซึ่งเขาใช้เวลาส่วนใหญ่ในโรงพยาบาลนั้น ทำให้เกิดการคาดการณ์ว่าเขาทำข้อตกลงกับกลุ่มอนุรักษ์นิยมและกองทัพ แต่บรรดาพันธมิตรของเขาออกโรงปฏิเสธ
แม้จะกล่าวว่าวางมือทางการเมืองแล้ว แต่หลังได้รับการพักโทษ นายทักษิณได้เคลื่อนไหวพบปะนักการเมืองและผู้สนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งบรรดานักวิเคราะห์ต่างคาดหมายว่าเขาจะยังคงมีอิทธิพลทางการเมืองอยู่เบื้องหลัง ซึ่งเพิ่มโอกาสการเผชิญหน้ากับกลุ่มอำนาจเก่าขึ้นมาอีกครั้ง
ทั้งนี้ กรณีของนายทักษิณถือเป็นคดีดังในหมู่ผู้ที่ถูกฟ้องในคดี ม.112 ที่มีมากกว่า 270 คนในประเทศไทยในช่วงไม่กี่ปีมานี้ โดยหากถูกตัดสินว่ามีความผิดจะต้องโทษจำคุกสูงสุด 15 ปี ขณะที่คำฟ้องนี้มีขึ้นไม่กี่วันหลังจากศาลอาญามีคำพิพากษาในวันจันทร์ จำคุกศิลปินดัง และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคก้าวไกลในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (ม.112) และได้รับการประกันตัวในเวลาต่อมา
คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ฐิติพล ภักดีวานิช ให้ทัศนะกับรอยเตอร์ว่า การยื่นฟ้องดังกล่าวอาจเป็นความพยายามของทางการไทยในการทำให้เห็นความสมดุล ในช่วงที่มีการดำเนินคดี ม.112 ต่อนักเคลื่อนไหวและพรรคก้าวไกล แต่มองว่านายทักษิณอาจจะรอดพ้นจากเหตุการณ์นี้
ขณะที่ศ.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ อาจารย์ด้านรัฐศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ทัศนะกับเอพีว่าอิทธิพลของนายทักษิณที่เพิ่มมากขึ้น ได้สร้างความขุ่นเคืองให้กับกลุ่มอนุรักษ์นิยมสุดโต่งและคำฟ้องดังกล่าวถือเป็นการตอบโต้ของพวกเขา โดยกล่าวว่า “สิ่งนี้ได้รับการออกแบบมาเพื่อให้ทักษิณอยู่ในการควบคุม หากเขาไม่ปฏิบัติตาม ข้อหานี้จะถูกหยิบขึ้นมาและทำให้เขาต้องติดคุก นี่คือการจำกัดการเคลื่อนไหวและบทบาทของเขา และเพื่อเตือนเขา ส่งสัญญาณให้เขารู้ว่าเขาไม่ควรล้ำเส้น”
- มีเนื้อหาบางส่วนจากเอพี รอยเตอร์ และเอเอฟพี
กระดานความเห็น