นายกรัฐมนตรี David Cameron ของอังกฤษกำหนดวันลงประชามติว่าอังกฤษจะเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปต่อหรือไม่ วันที่ 23 มิถุนายน
ผู้นำอังกฤษกล่าวในครั้งนี้ด้วยว่า อังกฤษจะปลอดภัยและเป็นชาติที่แข็งแกร่งขึ้นถ้าอังกฤษยังคงเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพยุโรป ซึ่งมีสมาชิกทั้งหมด 28 ประเทศ
เขาบอกว่าหากชาวอังกฤษเห็นว่าประเทศควรเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปต่อไป ตนจะพยายามผลักดันให้เกิดการปฏิรูปต่อเนื่อง
นายกรัฐมนตรีเดวิด แคเมอรอน บรรลุข้อตกลงกับประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปอื่นๆ อีก 27 ประเทศ เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว เพื่อที่จะรักษาสถานภาพพิเศษของอังกฤษให้คงอยู่ต่อไปภายใต้เงื่อนไขการเป็นสมาชิก EU
ความตกลงดังกล่าวมีขึ้นหลังจากการเจรจายาวนานสองวันที่การประชุมสุดยอดผู้นำสหภาพยุโรปที่บรัสเซลส์ โดยผู้นำประเทศในยุโรปรายอื่นๆ ยอมรับข้อเรียกร้องของอังกฤษ ซึ่งรวมถึงสิทธิ์การจำกัดสวัสดิการและการดูแลลูกจ้างสำหรับประชาชนจากประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปอื่นๆ ที่เข้ามาทำงานในอังกฤษ
นอกจากนั้น นายกรัฐมนตรีแคเมอรอนยังสามารถทำให้ประเทศสมาชิก EU อื่นๆ ยอมรับว่า อังกฤษจำไม่ผูกพันกับการถูกลงโทษใดๆ จากการใช้เงินสกุลปอนด์สเตอร์ลิงต่อไป แทนที่จะเงินยูโรเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ
อีกประการหนึ่ง อังกฤษไม่ต้องดำเนินการบูรณาการเพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งของสหภาพยุโรปมากขึ้น ผู้สันทัดกรณีกล่าวด้วยว่า ความตกลงครั้งนี้น่าจะช่วยรักษาบทบาทของกรุงลอนดอนให้เป็นศูนย์กลางการเงินที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลกต่อไปด้วย
แม้ว่าในตอนแรก ผู้นำประเทศ EU บางรายไม่เห็นด้วยกับการที่อังกฤษสามารถจำกัดสวัสดิการสำหรับแรงงานจากประชาชนของประเทศอื่นที่เข้ามาทำงานในอังกฤษ แต่ไม่มีประเทศใดที่อยากเห็นอังกฤษยุติการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป
ที่เป็นเช่นนั้นก็น่าจะมาจากการเห็นความสำคัญของอังกฤษในด้านการทหารและเศรษฐกิจ
หลังจากที่นายกรัฐมนตรี เดวิด แคเมอรอนสามารถตกลงเงื่อนไขเหล่านี้ได้กับประเทศอื่นๆ และได้กำหนดวันที่ชาวอังกฤษจะลงประชามติว่าต้องการให้ประเทศของตนเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปต่อไปหรือไม่ โดยการประชุมมีข้อสรุปว่าการลงประชามติดังกล่าวจะเกิดขึ้นในวันที่ 23 มิถุนายน
นายกรัฐมนตรี แคเมอรอนกล่าวว่า ตนเห็นว่าอังกฤษ จะแข็งแกร่งขึ้นและปลอดภัยมากขึ้น ภายใต้กลุ่มสหภาพยุโรปที่มีการปฏิรูป และนั่นเป็นเหตุผลที่ตนจะยังคงรณรงค์ด้วยความมุ่งมั่น ให้ชาวอังกฤษเห็นถึงข้อดีของการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปต่อไป
อย่างไรก็ตามยังมีคนจำนวนไม่น้อยโดยเฉพาะอย่างยิ่งนักการเมืองแนวอนุรักษ์นิยม ที่ต้องการให้ชาวอังกฤษเลือกที่จะถอนตัวจากสหภาพยุโรป เนื่องจากเหตุผลทางเศรษฐกิจเป็นหลัก พวกเขาเห็นว่ากฎหมายอื่นๆ ของสหภาพยุโรปเช่นเรื่อง คนเข้าเมืองและการลงโทษอาชญากรมีบทบาทเหนือกฎหมายของอังกฤษ
Pam Watts ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปกล่าวว่า ความตกลงที่เกิดขึ้นระหว่างนายกรัฐมนตรีแคเมอรอน และผู้นำประเทศ EU คนอื่นๆ ไม่ถือว่ามีผลอะไรต่อความคิดของเธอ
เธอกล่าวว่าฝ่ายของเธอจะยังคงรณรงค์อย่างแข็งขันให้ประชาชนต่อต้านการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป เธอเห็นว่าเป็นการแสดงความคิดเห็นทางประชาธิปไตยที่สะท้อนการต่อสู้ของประชาชนกับข้าราชการ กลุ่มธุรกิจและกลุ่มทุน
ส่วน Dominic Spencer ผู้ที่ไม่เห็นด้วยอีกคนหนึ่งกล่าวว่า ตนหวังว่าความเห็นของพวกตนจะได้รับการพิจารณา
เขาหวังว่าในที่สุดแล้ว ชาวอังกฤษจะเลือกให้ประเทศของตนถอนตัวจากสหภาพยุโรป และเห็นภาพชัดเจนว่าการเจรจาของนายกรัฐมนตรีแคเมอรอนครั้งล่าสุดกับ EU เป็นเพียงเกมส์ที่สร้างขึ้นมาทำให้ประชาชนไขว้เขว
(รายงานโดย Kenneth Schwartz / เรียบเรียงโดย รัตพล อ่อนสนิท)