เมื่อเดือนมีนาคมศูนย์วิจัย Pew รายงานว่าผลสำรวจพบว่า 55% ของผู้ใหญ่ชาวอเมริกันกล่าวว่าพวกเขาได้สวดมนต์อธิษฐานขอให้โคโรนาไวรัสสิ้นสุดลงเสียที
ชาวอเมริกันรวมทั้งผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์ที่สวดมนต์เป็นประจำทุกวันหันมาสวดมนต์กันมากขึ้นในช่วงการระบาดใหญ่นี้ แต่บางคนที่สวดมนต์นานๆ ครั้งหรือไม่เคยสวดมนต์เลยตลอดจนผู้ที่ไม่ได้นับถือศาสนาใดๆ ก็เริ่มหันมาสวดมนต์ด้วยเช่นกัน
Brad Bushman ศาสตราจารย์ด้านการสื่อสารจากมหาวิทยาลัย Ohio State University กล่าวว่า ผู้คนมักจะหันไปสวดมนต์กันในเวลาที่ประสบกับความรู้สึกด้านลบที่รุนแรง เช่นความโกรธ ความเศร้าโศก หรือความหวาดกลัว ความรู้สึกเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องธรรมดาในช่วงที่มีการระบาดใหญ่นี้ นอกจากนี้ผู้คนยังสวดมนต์เมื่อรู้สึกว่ามีอะไรบางอย่างที่อยู่เหนือการควบคุม และพวกเขาต้องการความช่วยเหลือจากสิ่งที่มีพลังเหนือกว่า
แม้ว่าการศึกษาวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับประโยชน์ของการสวดมนต์ที่มีต่อสุขภาพนั้นยังคงจำกัด แต่ผลการศึกษาก็ชี้ให้เห็นว่าการสวดมนต์อาจช่วยลดความเครียด คลายความเหงาและความหวาดกลัวลงได้
อย่างไรก็ตาม Kevin Masters ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัย University of Colorado รัฐเดนเวอร์กล่าวว่าการศึกษาเรื่องการสวดมนต์นั้นเป็นเรื่องที่ท้าทายด้วยเหตุผลหลายๆ ประการ
นักวิชาการที่สนใจศึกษาเรื่องนี้ในระยะยาวไม่ได้มีมากมายนัก เนื่องจากเงินทุนช่วยเหลือการศึกษาวิจัยที่ไม่พอเพียง และการที่มีการศึกษาเพียงไม่กี่ครั้งแสดงให้เห็นว่าไม่มีการกำหนดวิธีการใดๆ ซึ่งจะนำไปสู่การศึกษาเพิ่มเติมอย่างละเอียดมากขึ้น นอกจากนี้นักวิทยาศาสตร์ไม่สามารถศึกษากลไกของพระเจ้าได้ เหมือนกับที่ศึกษาเรื่องการใช้ยาหรือเทคนิคการผ่าตัดใหม่ๆ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากที่จะหากระบวนการในการที่จะอธิบายผลลัพธ์ใดๆ ของการศึกษานี้
และด้วยการที่มีข้อจำกัดต่างๆ จึงเป็นการยากที่จะบอกได้ว่าความรู้สึกสบายใจที่เกิดขึ้นกับคนเรานั้นเกิดจากการสวดมนต์อ้อนวอนขอให้ตนปลอดภัย หรือเกิดจากพลังของพระผู้เป็นเจ้าที่ช่วยขจัดปัดเป่าความทุกข์กันแน่
การศึกษาก่อนหน้านี้ชี้ว่าการสวดมนต์ช่วยให้เกิดความสงบ มีกำลังใจ และได้รับความช่วยเหลือทางสังคม
Dr. Christina Puchalski ศาสตราจารย์ด้านการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพที่มหาวิทยาลัย George Washington University และผู้อำนวยการสถาบัน Spirituality and Health ที่มหาวิทยาลัยเดียวกันนี้กล่าวว่าผู้คนสวดมนต์ด้วยเหตุผลหลายๆ ประการ ไม่ว่าจะเป็นการสวดภาวนาเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่เฉพาะเจาะจง เพื่อบรรเทาความทุกข์ เพื่อแสดงความขอบคุณ หรือเพื่อการสะท้อนความคิด นอกจากนี้การสวดมนต์ยังช่วยลดความรู้สึกอ้างว้างโดดเดี่ยว ความวิตกกังวล และความกลัวลงได้อีกด้วย
การศึกษาเมื่อปีพ.ศ. 2552 เกี่ยวกับผลกระทบของการสวดมนต์ที่มีต่อความหดหู่ใจและความวิตกกังวลพบว่าสมาชิกของกลุ่มมีอัตราความซึมเศร้าและความวิตกกังวลลดน้อยลง และมองโลกในแง่ดีมากขึ้นหลังจากที่เข้ากลุ่มสวดมนต์ภาวนาให้แก่กันและกัน
ทั้งนี้การสวดมนต์และการนั่งสมาธินั้นมีความเหมือนกันในหลายๆ ด้าน โดยกิจกรรมทั้งสองอย่างช่วยให้คนมีสติมากขึ้นและป้องกันไม่ให้มีความกังวลมากเกินไป
การศึกษาเมื่อปีพ.ศ. 2554 พบว่าการสวดมนต์สามารถช่วยลดความโกรธและความก้าวร้าว ส่วนการศึกษาอีกฉบับหนึ่งพบว่าเมื่อคนที่คบหากัน หรือคู่สมรสสวดมนต์ให้แก่กันและกัน จะช่วยให้ความก้าวร้าวของคนเหล่านั้นลดน้อยลง และให้อภัยกันมากขึ้น
อาจารย์ Bushman จากมหาวิทยาลัย Ohio State University ผู้ร่วมเขียนรายงานการศึกษาปีพ.ศ. 2554 กล่าวว่าการสวดมนต์ช่วยให้คนเรามองสถานการณ์ในมุมมองใหม่ๆ ที่แตกต่างจากเดิม
อย่างไรก็ตามการสวดมนต์ทุกประเภทนั้นอาจไม่ได้ผลเหมือนๆ กัน ตัวอย่างเช่นเมื่อผู้ป่วยที่อยู่ในโรงพยาบาลมองว่าพระเจ้าเป็นผู้มีความเมตตา การสวดมนต์จะช่วยให้ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตของคนเหล่านั้นดีขึ้น แต่ถ้าพวกเขามองว่าพระเจ้ากำลังลงโทษตนเองอยู่ หรือรู้สึกโกรธเคืองต่อพระเจ้า สุขภาพของพวกเขาก็จะแย่ลง