รัฐบาลหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่างประกาศความคืบหน้าในการจัดหาวัคซีนต้านโควิด-19 ให้กับประชาชนในประเทศ หลังบรรลุข้อตกลงกับบริษัทยาที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนายาดังกล่าวเมื่อเร็วๆ นี้
สำนักข่าว South China Morning Post รายงานว่า นายกรัฐมนตรี มูห์ยิดดิน ยัสซิน แห่งมาเลเซีย เปิดเผยในวันศุกร์ตามเวลาท้องถิ่นว่า รัฐบาลกรุงกัวลาลัมเปอร์ได้ทำข้อตกลงสั่งซื่อวัคซีนต้านโควิด-19 จำนวน 12.8 ล้านโดสจากบริษัทยา ไฟเซอร์ (Pfizer) ซึ่งสัญญาจะส่งมอบวัคซีนจำนวน 1 ล้านโดสแรกภายในไตรมาสแรกของปีหน้า ก่อนจะนำส่งที่เหลือตามมาในแต่ละไตรมาสของปีจนครบจำนวนทั้งหมดที่สั่งไว้
มาเลเซียมีแผนที่จะใช้วัคซีนทั้งหมดจากไฟเซอร์ เพื่อใช้กับประชากรราว 6.4 ล้านคน หรือประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งประเทศ ควบคู่กับวัคซีนที่จะได้รับจากโครงการ Covax ขององค์การอนามัยโลกที่จะมาครอบคลุมประชากรอีก 10 เปอร์เซ็นต์
นายกรัฐมนตรี ยัสซิน ระบุระหว่างทำการแถลงการณ์เรื่องนี้ผ่านสถานีโทรทัศน์ว่า โครงการวัคซีนที่รัฐบาลจัดหามานั้นจะมุ่งเน้นใช้กับกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงทั้งหมดก่อน โดยรวมถึง ผู้ที่อยู่แถวหน้าที่ต้องรับมือกับผลกระทบของวิกฤตโควิด-19 ซึ่งมักเป็นบุคลากรทางการแพทย์เป็นหลัก รวมทั้ง ประชาชนผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อ เช่น โรคหัวใจ และโรคเบาหวาน เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ไฟเซอร์ ยังอยู่ในระหว่างการขออนุมัติการใช้วัคซีนจากหน่วยงานกำกับดูแลหลายแห่งอยู่ เช่น สำนักงานอาหารและยาของสหรัฐฯ หรือ FDA และกระทรวงสาธารณสุขมาเลเซีย ก่อนที่จะนำมาใช้กับประชาชนได้
นอกจากนั้น สำนักข่าวมาเลเซียกินี รายงานโดยอ้างคำพูดของนายกรัฐมนตรี ยัสซิน ด้วยว่า มาเลเซียจะทำการทดสอบวัคซีนวิดครั้งแรกในเดือนธันวาคม ตามข้อตกลงที่ทำไว้กับรัฐบาลจีน โดยจะเป็นการทดสอบในขั้นที่ 3 สำหรับวัคซีนที่พัฒนาโดย สถาบัน Institute of Medical Biology Chinese Academy of Medical Sciences
มาเลเซียและจีนทำข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 ไว้เมื่อเดือนพฤศจิกายน โดยมาเลเซียจะมีสิทธิ์เข้าถึงวัคซีนนี้ในลำดับต้นๆ ขณะที่ ทั้งสองประเทศจะร่วมแบ่งปันความรู้และความเชี่ยวชาญต่างๆ เกี่ยวกับวัคซีนนี้ตลอดโครงการด้วย
สำนักข่าว บลูมเบิร์ก รายงานว่า อัตราการติดเชื้อโควิด-19 ในมาเลเซียรายวันเพิ่งพุ่งทำสถิติใหม่เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ด้วยตัวเลข 2,188 ราย โดยกว่าครึ่งของผู้ติดเชื้อใหม่นี้เป็นผู้ที่อยู่อาศัยในหอพักของบริษัท Top Glove Corp ซึ่งเป็นผู้ผลิตถุงมือผ่าตัดรายใหญ่ที่สุดในโลก
สถานการณ์ที่รุนแรงขึ้นนี้ ทำให้ความสามารถในการจัดการกับการระบาดของมาเลเซียตกลงมาอยู่ที่อันดับ 29 ในการสำรวจของบลูมเบิร์ก ซึ่งแย่กว่ากว่าอันดับที่ 19 ของอินโดนีเซีย ที่เป็นพื้นที่ระบาดรุนแรงที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ทั้งนี้ รัฐบาลกรุงจาการ์ตาได้สั่งซื้อวัคซีนจากผู้พัฒนาอย่างน้อย 4 ราย ซึ่งรวมถึง บริษัท ซิโนแวค ไบโอเทค (Sinovac Biotech) บริษัท แอสตราเซเนกา แล้ว ซึ่งทำให้การเข้าถึงวัคซีนของอินโดนีเซียอยู่ในอันดับที่ 2 รองจากจีน และในระดับเดียวกับ ญี่ปุ่น และ อินเดีย ตามรายงานของบลูมเบิร์ก
ขณะเดียวกัน รัฐบาลไทยได้ลงนามข้อตกลงจัดหาวัคซีนต้านโควิด-19 จาก แอสตราเซเนกา ในวันศุกร์ตามเวลาในไทย โดย บริษัทยาแห่งนี้วางแผนที่จะนำส่งวัคซีนชุดแรกที่ร่วมพัฒนากับมหาวิทยาลัย อ็อกซ์ฟอร์ด ของอังกฤษ ให้ไทยภายในกลางปีหน้า โดยนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เปิดเผยว่า ไทยได้ทำการของซื้อวัคซีนล่วงหน้าไว้ 26 ล้านโดส