โดยทั่วไปแล้ว คำว่า "มังงะ" เป็นคำที่ใช้ในการพูดถึงหนังสือการ์ตูนและนิยายภาพหลากหลายประเภทจากประเทศญี่ปุ่น ทั้งยังมีความเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมเอเชียมาช้านาน และปัจจุบัน สื่อบันเทิงประเภทนี้ได้กลายมาเป็นสิ่งที่ชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียรุ่นใหม่ ๆ เริ่มจะคุ้นเคยมากขึ้นผ่านหนังสือการ์ตูนอเมริกัน
และที่งาน Comic-Con 2023 ที่จัดขึ้นที่ซานดิเอโก ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เคน เลิง คอสเพลเยอร์ หรือนักแต่งตัวเลียนแบบการ์ตูนญี่ปุ่นชาวอเมริกันเชื้อสายจีนและเวียดนาม เป็นหนึ่งในผู้สนใจวัฒนธรรม “มังงะ” ที่มาร่วมงานและแต่งตัวเลียนแบบอินุยาฉะ (Inuyasha) เทพกึ่งอสูรจากการ์ตูนเรื่องยาวของญี่ปุ่น
เลิงกล่าวว่า เขารู้สึกภูมิใจมากที่ได้แต่งตัวเลียนแบบตัวละครที่มีต้นกำเนิดมาจากเอเชีย พร้อมอธิบายว่า หากจะต้องหาตัวละครที่มาจากเอเชียแล้ว แหล่งข้อมูลเดียวที่จะอ้างอิงได้คือ อนิเมะ หรือสื่อเนื้อหาภาพเคลื่อนไหวจากประเทศญี่ปุ่น เพราะการตูนและนิยายภาพจากตะวันตกไม่ค่อยมีตัวละครเชื้อสายเอเชียเท่าใดนัก
ในความจริง หากเราลองค้นดูเนื้อหาจากการ์ตูนของอเมริกันแล้ว ตัวละครเชื้อสายเอเชียที่หาเจอก็มักจะเป็นไปในลักษณะเหมารวมแบบเดิม ๆ โดยเฉพาะตัวละครที่เป็นผู้หญิง ว่าจะต้องมีลักษณะท่าทางแบบหนึ่งเท่านั้น
เจนิส เจียง นักเขียนการ์ตูนชาวอเมริกันเชื้อสายจีนกล่าวว่า ในมุมมองการนำเสนอของการ์ตูนอเมริกันนั้น ผู้หญิงเอเชียมักต้องเป็นคนที่ จะต้องมีความสวยแปลกตาไม่ซ้ำใคร และแม้ว่าใครจะร้ายใส่ยังไงก็จะเงียบ ไม่มีปากมีเสียง แต่ตอนนี้สิ่งต่าง ๆ กำลังเปลี่ยนไปแล้ว
นักเขียนการ์ตูนชาวอเมริกันเชื้อสายจีนรายนี้เคยร่วมงานในการผลิตหนังสือการ์ตูนเรื่อง “The Transformers,” “Conan the Barbarian,” “Iron Man” และ “The Avengers” มาแล้ว และในงาน Comic-Con 2023 ที่ผ่านมา เธอก็มานำเสนอผลงานล่าสุดภายใต้สำนักพิมพ์ DC Comics ซึ่งก็คือ “Monkey Prince”
เจียงอธิบายว่า ผลงานนี้เป็นการ์ตูนที่สร้างขึ้นโดยทีมงานชาวอเมริกันเชื้อสายจีนทั้งหมดและเป็นการผสมผสานระหว่างตำนานคลาสสิกของจีนกับแนวซูเปอร์ฮีโร่สมัยใหม่
เมื่อพูดถึงการผสมผสานความเป็นเอเชียและโลกตะวันตก เจสสิกา แซง นักประวัติศาสตร์การ์ตูนนานาชาติ กล่าวว่า ภาพยนตร์เรื่อง ชาง-ชี กับตำนานลับเท็นริงส์ (Shang-Chi and the Legend of the Ten Ring) จากค่ายมาร์เวลที่ออกฉายเมื่อปี 2021 ซึ่งเป็นเรื่องราวของซูเปอร์ฮีโร่ชาวเอเชีย ถือเป็นการสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของการนำเสนอภาพลักษณ์ของชาวเอเชีย
แชง กล่าวว่า การที่ตัวละคร ชาง-ชี สามารถพูดภาษาอังกฤษได้อย่างสมบูรณ์แบบ โดยที่ไม่มีสำเนียงเอเชียเลย จึงช่วยเปลี่ยนทัศนคติที่ผิด ๆ เกี่ยวกับชาวเอเชียได้ เพราะบ่อยครั้งที่ชาวเอเชียในสหรัฐฯ ยังคงถูกมองว่า เป็นชาวต่างชาติ แม้ว่าจะเกิดและเติบโตในอเมริกาก็ตาม
บุคลากรในแวดวงการ์ตูนอีกคนที่มีบทบาทในการส่งเสริมภาพลักษณ์ของชาวเอเชียในโลกตะวันตกก็คือ พรศักดิ์ พิเชษฐ์โชติ นักเขียนหนังสือการ์ตูนชาวอเมริกันเชื้อสายไทย ผู้ประพันธ์ “The Good Asian” ในปี 2022 ที่ได้รับรางวัล Eisner Award ซึ่งถือเป็นรางวัลอันทรงเกียรติที่สุดในอุตสาหกรรมหนังสือการ์ตูน
พรศักดิ์กล่าวว่า ผลงานเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ได้จากการลองผสมผสานมุมมองของความเป็นชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียเข้าไปในการนำเสนอวัฒนธรรมการ์ตูนอเมริกันดู
นักเขียนหนังสือการ์ตูนชาวอเมริกันเชื้อสายไทยรายนี้ อธิบายด้วยว่า “'The Good Asian' เป็นหนังสือที่อยู่ในหมวดหมู่ที่เขาสร้างขึ้นมาเองที่เรียกว่า Chinatown Noir และเล่าเรื่องราวของนักสืบชาวอเมริกันเชื้อสายจีนซึ่งเป็นคนอเมริกันที่มาจากเอเชียรุ่นแรก ๆ และเติบโตขึ้นมาในกลุ่มผู้อพยพชาวจีน นอกจากนี้ ยังมีเรื่องราวเกี่ยวกับชุมชน การรู้จักตัวตน และความเป็นคนอเมริกันอีกด้วย
พรศักดิ์กล่าวด้วยว่า เขาวางแผนที่จะดัดแปลงหนังสือเรื่องนี้ให้เป็นบทโทรทัศน์ เพราะรู้สึกว่า ประสบการณ์ของการเป็นผู้อพยพเข้าประเทศและการค้นหาอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมนั้นเป็นสิ่งที่ผู้อ่านชาวอเมริกันในวงกว้างสามารถเข้าใจและเข้าถึงได้อย่างไม่ยาก
มุมมองเหล่านี้ล้วนชี้ให้เห็นว่าทิศทางการเปิดโลกทัศน์ของผู้บริโภคสื่อบันเทิงที่มีต้นกำเนิดมาจากการ์ตูนในสหรัฐฯ หรือประเทศตะวันตกเริ่มมีพลวัตชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงที่สังคมโลกมีการเปิดกว้าง เคลื่อนย้าย และผสมผสานกันมากขึ้น ซึ่งทำให้ความหวังที่จะเห็นวัฒนธรรมที่ต่างกันยอมรับผู้อื่นในแบบที่เป็นจริง มิใช่แค่ภาพเหมารวม เกิดขึ้นได้จริงในอนาคต
- ที่มา: วีโอเอ