จียัง หุ่นเชิดจากรายการ เซซามี สตรีท ที่เป็นตัวละครอเมริกันเชื้อสายเกาหลีของคณะ กล่าวแนะนำตัวในลุคผมบ๊อบสีดำขลับ และชุดเสื้อกั๊กยีนส์แนวร็อคสุดทะมัดทะแมง ที่บ่งบอกความหลงใหลในการเล่นกีตาร์ไฟฟ้าแนวเพลงร็อค และความชื่นชอบการเล่นสเกตบอร์ดของเธอ
ในฉากสัมภาษณ์แนะนำตัว จียัง สมาชิกใหม่ของ เซซามี สตรีท ในวัย 7 ขวบ เปิดเผยกับสำนักข่าวเอพีถึงที่มาของชื่อเธอว่า คำว่า จี หมายถึง ฉลาดปราดเปรื่อง และ ยัง หมายถึง กล้าหาญ และแข็งแกร่ง และคำว่า จี ยังให้ความหมายว่า งา หรือ sesame พ้องกับชื่อรายการขวัญใจเด็กๆ เซซามี สตรีท อีกด้วย
จียัง สร้างประวัติศาสตร์ในฐานะหุ่นเชิดอเมริกันเชื้อสายเอเชียนตัวแรกในรายการ เซซามี สตรีท ที่จะออกอากาศครบ 52 ปี ในเดือนพฤศจิกายนนี้ เธอเป็นชาวอเมริกันเชื้อสายเกาหลี ที่จะปรากฏในตอนพิเศษ See Us Coming Together: A Sesame Street Special ซึ่งมี ซิมู หลิว (Simu Liu) ฮีโร่เชื้อสายเอเชียนคนแรกจากค่ายมาร์เวล จากภาพยนตร์เรื่อง Shang-Chi and the Legend of the Ten Rings แพดมา ลักช์มี (Padma Lakshmi) พิธีสาวชาวอเมริกันเชื้อสายอินเดียจากรายการ Top Chef และนาโอมิ โอซากะ (Naomi Osaka) นักเทนนิสหญิงชาวอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่น มาร่วมรายการที่จะออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ PBS ในช่วงวันขอบคุณพระเจ้าปีนี้
บุคลิกท่าทางของจียัง มาจากคนเชิดหุ่นของเธอ คือ เคทลีน คิม ชาวอเมริกันเชื้อสายเกาหลีวัย 41 ปี ที่เข้าสู่วงการหุ่นเชิดประมาณอายุ 30 กว่าๆ และในปี 2014 เธอตอบรับที่จะเข้าร่วมการอบรมกับ เซซามี สตรีท และกลายเป็นส่วนหนึ่งของทีมรายการในอีกปีต่อมา ซึ่งเธอยอมรับว่า การได้เป็นนักแสดงหุ่นเชิดในรายการที่เธอดูมาตั้งแต่เด็กคือฝันที่เป็นจริง แต่การสร้างหุ่นเชิดขึ้นมาใหม่นั้นเป็นอีกงานที่สำคัญ เพราะจะต้องถ่ายทอดเรื่องราวในการเป็นตัวแทนและแบบอย่างของคนเอเชียนอเมริกันซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นเมื่อครั้งเธอยังเป็นเด็ก
บทบาทของ จียัง ในเซซามี สตรีท นอกจากจะเป็นตัวแทนของชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย ที่พร้อมจะเผยแพร่แง่มุมต่างๆ ทางวัฒนธรรมแล้ว จียัง จะเป็นผู้ที่ออกมาสอนเด็กๆ ในการเป็นพลเมืองดี หรือ upstander ซึ่งเป็นผู้ที่เห็นแก่สังคมโดยรวม ไม่นิ่งดูดายและไม่เพิกเฉยหากพบเห็นการกระทำผิด
การปรากฏตัวของ จียัง ในปีนี้ เกิดขึ้นหลังจากหลากหลายเหตุการณ์วุ่นวายในปี 2020 ตั้งแต่การเสียชีวิตของจอร์จ ฟลอยด์ คนผิวสีชาวอเมริกัน และการก่ออาชญากรรมจากความเกลียดชังคนเอเชียในอเมริกา องค์กรและหน่วยงานต่างๆ ซึ่งรวมถึง เซซามี สตรีท ได้พยายามสะท้อนปัญหาเหล่านี้ออกมา จนตกผลึกเป็นโปรเจค Coming Together ที่จะเน้นการพูดถึงเรื่องเชื้อชาติ ชาติพันธุ์ และวัฒนธรรมอันหลากหลายในสังคมอเมริกัน โดยมีการแนะนำสมาชิกใหม่ๆ ที่เป็นตัวแทนของความหลากหลายทางเชื้อชาติ อย่างเช่น ‘ทมิฬ’ (Tamir) ที่แม้จะไม่ใช่หุ่นเชิดผิวดำตัวแรก แต่เป็นหุ่นเชิดตัวแรกที่ออกมาพูดถึงการเหยียดเชื้อชาติในรายการนี้
คำในข่าว สัปดาห์นี้ เสนอคำว่า rock จากเนื้อหาในข่าวนี้ที่แนะนำตัวจียัง ในฐานะสมาชิกใหม่ของเซซามี สตรีท ว่า
She is Korean American and has two passions: rocking out on her electric guitar and skateboarding.
หมายความว่า เธอ (จียัง) เป็นชาวอเมริกันเชื้อสายเกาหลี และมีความหลงใหลใน 2 สิ่ง คือ เล่นกีตาร์ไฟฟ้าได้อย่างเต็มอารมณ์ร็อคและเล่นสเกตบอร์ด
คำว่า rock จากเนื้อหาในข่าวนี้ อยู่ในรูปคำกริยา ที่เติม -ing ซึ่งมีที่มาจากเพลงเเนวร็อค
ดังนั้น ประโยคที่ว่า rocking out on her electric guitar จึงหมายถึง เล่นกีตาร์ไฟฟ้าได้อย่างเต็มอารมณ์ร็อค นั่นเอง
คำว่า rock เป็นได้ทั้งคำกริยาและคำนาม และแปลได้หลายความหมาย
คำว่า rock ที่ทำหน้าที่เป็นคำกริยา แปลว่า โยก เขย่า หรือ สั่น
ไปดูการใช้คำว่า rock ที่แปลว่า เขย่า ในประโยคกัน ตัวอย่างเช่น
The demolition company uses a giant tractor to rock and remove concrete structures of an old building.
หมายความว่า บริษัททุบตึกใช้รถแทร็กเตอร์ขนาดใหญ่เพื่อเขย่าและรื้อโครงสร้างคอนกรีตของอาคารเก่า
มาต่อที่สำนวน rock the boat หมายถึง สร้างความปั่นป่วน ไปดูการใช้สำนวนนี้ในประโยคกัน
Honey, if you can't help negotiating for a lower price, please don't rock the boat by telling them we are desperate to buy it at any cost.
หมายความว่า ที่รัก ถ้าคุณจะไม่ช่วยต่อราคาให้ถูกลง ได้โปรดอย่าสร้างความปั่นป่วน ด้วยการบอกพวกเขาว่าเราอยากจะซื้อสิ่งนี้ไม่ว่าจะแพงแค่ไหนได้ไหม
ส่วนคำว่า เก้าอี้โยก เรียกว่า rocking chair ไปดูการใช้ในประโยคกัน ตัวอย่างเช่น
Grandpa's rocking chair is a sentimental piece. It's heartbreaking to see it at a yard sale.
หมายความว่า เก้าอี้โยกของคุณปู่เป็นของที่มีคุณค่าทางใจ มันน่าเจ็บปวดหัวใจที่ได้เห็นของชิ้นนี้วางขายแบกับดินอยู่แบบนี้น่ะ
ในภาษาพูด คำว่า rock ที่เป็นคำกริยา เเปลว่า สวมใส่อย่างเฉิดฉาย
ไปดูการใช้คำว่า rock ที่ทำหน้าที่เป็นคำกริยา หมายถึง สวมใส่อย่างเฉิดฉาย ในประโยคกัน ตัวอย่างเช่น
Did you see Nina at the reunion party? She was rocking her pink high heels.
หมายความว่า นี่เธอ ได้เห็นนีน่าที่งานเลี้ยงรวมรุ่นรึเปล่า? เธอใส่รองเท้าส้นสูงสีชมพูเฉิดฉายเลยล่ะ
ส่วนคำว่า rock ที่เป็นคำนาม แปลว่า หิน หรือ ก้อนวัตถุ
ไปดูการใช้คำว่า rock ที่แปลว่า หิน ในประโยคกัน ตัวอย่างเช่น
As a serious collector of minerals, Tom always gets offended if you call them rocks.
หมายความว่า ในฐานะนักสะสมหินแร่ธาตุอย่างจริงจัง ทอมจะรู้สึกเคืองทุกครั้งถ้าคุณเรียกสิ่งเหล่านี้ว่าก้อนหิน
ปิดท้ายคำในข่าววันนี้ ด้วยคำคมจาก ฌ็อง-ปอล ซาทร์ (Jean-Paul Sartre) นักเขียนและนักปรัชญาชาวฝรั่งเศส ผู้เคยกล่าวไว้ คล้ายกับสำนวนไทย ที่ว่า “มือไม่พาย เอาเท้าราน้ำ” ซึ่งในภาษาอังกฤษจะใช้ได้ว่า
Only the guy who isn't rowing has time to rock the boat.
หมายความว่า มีแต่คนที่ไม่ช่วยพายเท่านั้นที่จะว่างพอที่จะทำให้เรือโคลง