ลิ้งค์เชื่อมต่อ

จีน ประสบความสำเร็จเดินหน้า ‘การทูตวัคซีน’ เข้าถึงกว่า 100 ประเทศแล้ว


A woman holds a small bottle labeled with a "Coronavirus COVID-19 Vaccine" sticker and a medical syringe in front of displayed China flag, Oct. 30, 2020.
A woman holds a small bottle labeled with a "Coronavirus COVID-19 Vaccine" sticker and a medical syringe in front of displayed China flag, Oct. 30, 2020.
China and Vaccine Diplomacy
please wait

No media source currently available

0:00 0:04:29 0:00


รัฐบาลจีนยังคงเดินหน้าความพยายามของในการผูกสัมพันธ์กับนานาประเทศด้วยการใช้วัคซีนโควิด-19 เป็นสื่อเพื่อซื้อใจอย่างต่อเนื่อง ในช่วงที่การระบาดเป็นวงกว้างของโคโรนาไวรัสยังคงดำเนินอยู่นี้ แม้ว่าหลายฝ่ายจะยังคงมีข้อสงสัยเกี่ยวกับประสิทธิผลของวัคซีนที่จีนผลิตก็ตาม

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศจีนประกาศข่าวผ่านสื่อ ซินหัว ของรัฐว่า จีนได้ส่งมอบวัคซีนโควิด-19 จำนวน 1,100 ล้านโดสให้กับรัฐบาลกว่า 100 ประเทศ นับตั้งแต่เกิดการระบาดใหญ่ของโคโรนาไวรัสมา

ผู้สังเกตการณ์หลายรายมองว่า ยุทธศาสตร์การชิง “อำนาจอ่อน” (Soft Power) ของจีนด้วยการใช้วัคซีนโควิด-19 นั้นนอกจากจะเพื่อผูกมิตรกับนานาประเทศแล้ว ยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงความพยายามที่จะทำให้ตนเป็นที่ยอมรับเหนือสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นคู่แข่งตัวฉกาจ ซึ่งน่าจะช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ของรัฐบาลกรุงปักกิ่ง ในสายตาของประเทศผู้รับมอบทั้งหลาย ในเวลาที่การจัดหาวัคซีนนั้นยังเป็นเรื่องที่ทำได้ค่อนข้างยากอยู่

ฟาบริซิโอ บอสซาโต นักวิชาการอาวุโสจากสถาบัน Ocean Policy Research Institute แห่งมูลนิธิ Sasakawa Peace Foundation ในกรุงโตเกียว ให้ความเห็นว่า วัคซีนของจีนนั้นน่าจะใช้ได้ผลอยู่บ้าง แม้ประสิทธิผลและประสิทธิภาพจะต่ำกว่าของที่อื่นที่ผลิตในประเทศตะวันตกอยู่บ้าง แต่อย่างน้อยก็สามารถช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้ผู้รับยาได้ระดับหนึ่ง ซึ่งดีกว่าการไม่ได้รับวัคซีนเลย

บอสซาโต ยังกล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมา ดูเหมือนว่า นโยบายการทูตวัคซีนของจีนนั้นจะเดินหน้าไปได้ด้วยดี ซึ่งก็เป็นข่าวร้ายสำหรับกลุ่มประเทศตะวันตกทั้งหลาย ที่ถูกมองว่า พยายามกักเก็บอาวุธรับมือโควิด-19 ที่ดีที่สุดไว้ให้ประเทศตนเองใช้มากกว่า ทำให้จีนกลายมาเป็น “หุ้นส่วนที่ไว้เนื้อเชื่อใจได้และยินดีจะยื่นมือช่วย” แทนเสียแล้ว

ประเด็นประสิทธิผล-การแจกจ่ายวัคซีน

องค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานว่า ในบรรดาวัคซีนทั้งหลายที่จีนพัฒนาขึ้นมานั้น วัคซีนของซิโนแวค (Sinovac) มีประสิทธิผลในการต่อต้านการติดเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ได้ 51 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ วัคซีนของซิโนฟาร์ม (Sinopharm) นั้นมีระดับประสิทธิผลที่ 79 เปอร์เซ็นต์

อย่างไรก็ดี จอห์น สวาทซ์เบิร์ก ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ด้านสาธารณสุข จากมหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย เบิร์คลีย (University of California – Berkreley) กล่าวว่า ในเวลานี้ ยังไม่มีข้อมูลมากนักเกี่ยวกับประสิทธิผลของวัคซีนทั้งสองตัวของจีนในการรับมือกับไวรัสสายพันธุ์เดลตา แต่อย่างน้อย การมีวัคซีนใช้ก็ย่อมดีกว่าการไม่มีวัคซีนเลย

FILE - A medical worker holds a package for a Sinopharm vaccine at a vaccination facility in Beijing, Jan. 15, 2021.
FILE - A medical worker holds a package for a Sinopharm vaccine at a vaccination facility in Beijing, Jan. 15, 2021.

ทั้งนี้ สำนักข่าว ซินหัว ของทางการจีนรายงานว่า รัฐบาลกรุงปักกิ่งมีแผนจะแจกจ่ายวัคซีนโควิด-19 ไปยังนานาประเทศให้ได้รวม 2,000 ล้านโดสภายในปีนี้ พร้อมแสดงความมั่นใจว่า แผนงานดังกล่าวจะประสบผลสำเร็จตามเป้าได้อย่างแน่นอน โดยในเวลานี้ จีนได้ส่งมอบวัคซีนให้กับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้วราว 360 ล้านโดส

นอกจากนั้น ซินหัว ยังเปิดเผยด้วยว่า จีนได้จัดตั้งโรงงานผลิตวัคซีนของตนแล้วใน 15 ประเทศ ซึ่งจะช่วยส่งผลให้ต้นทุนการขนส่งลดลงอย่างมาก

ส่วนสหรัฐฯ นั้น รัฐบาลกรุงวอชิงตันกำลังเร่งดำเนินแผนแจกจ่ายวัคซีนให้กับประเทศอื่นๆ อยู่เช่นกัน โดยในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา สหรัฐฯ เพิ่งสั่งซื้อวัคซีนจำนวน 500 ล้านโดสเพื่อส่งมอบให้กับโครงการโคแวกซ์ ขององค์การอนามัยโลก เพื่อแจกจ่ายไปยังประเทศรายได้ปานกลางและรายได้ต่ำ และในเดือนสิงหาคมนี้เอง รัฐบาลสหรัฐฯ เพิ่งบริจาควัคซีนเป็นจำนวนรวมถึง 110 ล้านโดสให้กับประเทศอื่นๆ

แต่กระนั้น มีองค์การหลายแห่ง เช่น องค์การนิรโทษกรรมสากล (Amnesty International) ยังมองว่า สิ่งที่บรรดาประเทศตะวันตกกำลังทำอยู่นั้น ก็คือ “การกักตุน” วัคซีนเพื่อประชากรของตนเองเป็นหลักอยู่ดี

เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา องค์การนิรโทษกรรมสากล ออกแถลงการณ์ที่วิพากษ์วิจารณ์ข้อตกลงระดับทวิภาคีระหว่างประเทศร่ำรวยต่างๆ และบริษัทเวชภัณฑ์ผู้ผลิตวัคซีนทั้งหลาย และระบุว่า “แทนที่ประเทศเหล่านั้นจะทำตามภารผูกพันระหว่างประเทศของตน ด้วยการสั่งยกเว้นการบังคับใช้กฎด้านทรัพย์สินทางปัญญาสำหรับวัคซีน การทดสอบ การรักษา และการแบ่งปันเทคโนโลยีที่จะช่วยชีวิตผู้คนได้ ผู้นำกลุ่มประเทศจี-7 กลับเลือกที่จะเลือกดำเนินมาตรการแบบครึ่งๆ กลางๆ แทน”

Biden economy
Biden economy

มีรายงานข่าวว่า ประธานาธิบดี โจ ไบเดน น่าจะออกประกาศในสัปดาห์หน้า ระหว่างเข้าร่วมการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เพื่อขอให้ประเทศต่างๆ ร่วมกันสนับสนุนด้านทรัพยากรเพื่อให้ประชากรโลกสัดส่วน 70 เปอร์เซ็นต์ได้รับวัคซีนโควิด-19 ภายในเดือนกันยายนของปีหน้า

องค์การอนามัยโลกคำนวณว่า ในการดำเนินแผนการข้างต้นให้สำเร็จ จะต้องใช้วัคซีนราว 11,000 ล้านโดส ซึ่งหมายถึงความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตคอขวดในส่วนของอุปทาน

อัลเบิร์ต เบอร์ลา ซีอีโอ ของ ไฟเซอร์ (Pfizer) ซึ่งเป็นบริษัทเวชภัณฑ์ชั้นนำของสหรัฐฯ และหนึ่งในผู้พัฒนาและผลิตวัคซีนโควิด-19 ระบุในจดหมายเปิดว่า ทางบริษัทฯ ยังคงเดินหน้าทำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อแจกจ่ายวัคซีนให้กับคนทั่วโลกอย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพและเท่าเทียมกันมากที่สุดเท่าที่จะทำได้อยู่ แม้ว่า จะประสบปัญหาต่างๆ ในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการบรรจุ การแจกจ่าย และการจัดเก็บยาภายใต้อุณหภูมิเย็นจัดก็ตาม

นักวิเคราะห์และผู้สังเกตการณ์ในหลายประเทศที่ประสบวิกฤติโควิด-19 กล่าวว่า ในเวลานี้ ผู้คนจำนวนมากโดยเฉพาะในพื้นที่ยากจนทั่วโลกที่รายงานตัวเลขผู้ป่วยโควิดเพิ่มขึ้นอย่างมาก มีโอกาสได้รับวัคซีนของจีนที่มีผลข้างเคียงต่ำ ที่หลายคนเชื่อว่า ทำให้อาการป่วยในกลุ่มที่ได้รับวัคซีนแล้วนั้นไม่รุนแรงมากเท่าใด

เมื่อดูภาพรวมทั้งหมดในเวลานี้ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ สวาทซ์เบิร์ก จากมหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย เบิร์คลีย มองว่า บันทึกประวัติศาสตร์โลกคงมองจีนไม่ค่อยดีเท่าไรนัก ถ้าพิจารณาเรื่องของการที่รัฐบาลจีนไม่ค่อยจะเต็มใจที่จะเปิดเผยข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับโควิด-19 แต่ขณะเดียวกัน โลกก็คงจารึกไว้ว่า จีนเป็นประเทศที่ผลิตวัคซีนได้เป็นจำนวนมากและแจกจ่ายให้คนทั่วโลกได้จริงๆ

วัคซีน ไม่สามารถช่วยคลี่คลายประเด็นโต้แย้งกับจีนได้ทั้งหมด

ทั้งนี้ทั้งนั้น การที่จีนเดินหน้านโยบายการทูตวัคซีนได้สำเร็จระดับหนึ่งนั้น ไม่ได้ช่วยคลี่คลายหรือลบล้างประเด็นข้อพิพาทที่มีกับประเทศต่างๆ ให้จางหายไปได้เสียทีเดียว

ยกตัวอย่างเช่น กรณีของอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ที่ยังมีปัญหากับการที่จีนทำการขยายอิทธิผลในพื้นที่ 3.5 ล้านตารางกิโลเมตรในทะเลจีนใต้ ซึ่งยังเป็นพื้นที่พิพาทของหลายประเทศอยู่ ด้วยการถมทะเลสร้างเกาะใหม่ในบริเวณที่เป็นสันดอนและมีกลุ่มปะการังซึ่งฟิลิปปินส์อ้างสิทธิ์เป็นพื้นที่ของตน และทำการเดินเรือผ่านน่านน้ำที่เป็นพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษของอินโดนีเซียตามอำเภอใจด้วย

Health officials load 200,000 Sinopharm COVID-19 vaccine doses, donated by China, into a government truck at the Robert Gabriel Mugabe International Airport in Harare, Feb. 15, 2021. (Columbus Mavhunga/VOA)
Health officials load 200,000 Sinopharm COVID-19 vaccine doses, donated by China, into a government truck at the Robert Gabriel Mugabe International Airport in Harare, Feb. 15, 2021. (Columbus Mavhunga/VOA)

นอกจากประเด็นดังกล่าวแล้ว ยังมีอีกหลายประเทศที่มีประเด็นขัดแย้งด้านการค้าและการลงทุนกับจีน ขณะที่บางฝ่ายยังเคลือบแคลงและไม่พอใจเกี่ยวกับประเด็นที่มาของโคโรนาไรวัส ต้นเหตุของวิกฤติโควิด-19 ที่เริ่มต้นที่จีนอยู่ดี

นักวิเคราะห์ประเมินว่า ทั้งหมดนี้ไม่น่าจะคลี่คลายไปได้ เพียงเพราะจีนแจกจ่ายและบริจาควัคซีนต้นทุนต่ำและความช่วยเหลือด้านการแพทย์ต่างๆ ให้กับประเทศทั้งหลาย

XS
SM
MD
LG