เมื่อต้นเดือนมิถุนายน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีนแถลงว่า รัฐบาลจีนได้บริจาคและขายวัคซีนโควิด-19 อย่างน้อย 350 ล้านโดสให้ประเทศต่าง ๆ กว่า 120 ประเทศทั่วโลก
แต่รายงานที่ว่า บริษัท Fosun Pharma ของจีน ร่วมมือกับบริษัท BioNTech ของเยอรมนี เพื่อพัฒนาวัคซีนกระตุ้นเข็มที่สามสำหรับฉีดให้ประชาชนในประเทศจีน ทำให้ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขเห็นว่าเรื่องนี้เท่ากับการยอมรับว่าวัคซีนของจีนไม่มีประสิทธิผลเท่าที่ควร
เท่าที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้โฆษณาประสิทธิผลของวัคซีนของตนและได้ใช้แนวทางที่เรียกว่า vaccine diplomacy หรือ การทูตวัคซีน เพื่อบริจาคและขายวัคซีนโควิด-19 ให้กับประเทศกำลังพัฒนาต่าง ๆ
แต่นักวิเคราะห์ด้านนโยบายสาธารณสุข อย่างเช่น คุณสตีฟ มอริสัน ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายสุขภาพระดับโลกของ Center for Strategic and International Studies ที่กรุงวอชิงตัน ชี้ว่า ความร่วมมือระหว่างบริษัทเภสัชกรรมของจีนกับบริษัท BioNTech ของเยอรมนี เพื่อใช้วัคซีน mRNA เป็นเข็มกระตุ้นให้กับประชาชนจีนนั้น นับเป็นการยอมรับโดยนัยว่าวัคซีนที่จีนผลิตขึ้นเองใช้ไม่ได้ผลเท่าที่ควร
ส่วนนายแพทย์อาเมช อดัลจา แพทย์ด้านโรคติดเชื้อที่คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัย Johns Hopkins ก็บอกกับวีโอเอว่า ถึงแม้ทางการจีนยังไม่ยอมเผยแพร่ผลการทดลองวัคซีนของตนในเฟสที่สามก็ตาม แต่จากข้อมูลที่ได้ก็ทำให้พอทราบเกี่ยวกับประสิทธิผลในระดับต่ำของวัคซีนจากจีน และนั่นคือเหตุผลที่จีนกำลังต้องการวัคซีนเข็มกระตุ้นด้วย
เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม สื่อ CNBC ของสหรัฐฯ รายงานว่า ในหกประเทศของโลกซึ่งมีอัตราการฉีดวัคซีนสูงที่สุดเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรนั้น มีห้าประเทศซึ่งใช้วัคซีนจากจีน และมีตัวเลขผู้ติดเชื้อ โควิด-19 รายสัปดาห์เพิ่มขึ้น
ขณะเดียวกัน กระทรวงสาธารณสุขของอิสราเอลก็เปิดเผยเมื่อต้นเดือนนี้เช่นกันว่าประสิทธิผลจากวัคซีนของ Pfizer-BioNTech ต่อเชื้อโควิดทุกสายพันธุ์ได้ลดลงจากระดับ 95% ในเดือนพฤษภาคมเป็น 64% ขณะที่เชื้อสายพันธุ์เดลตากำลังระบาดในประเทศ
และเกี่ยวกับเรื่องนี้ อาจารย์จิน ดอง ยาน จากคณะชีวะการแพทย์ของมหาวิทยาลัย Hong Kong University ก็ให้ความเห็นว่า ข้อมูลนี้อาจทำให้สรุปได้ว่าประสิทธิผลของวัคซีนจากจีนก็น่าจะลดลงอยู่ในระดับต่ำกว่า 50% ในการป้องกันการติดเชื้อจากสายพันธุ์ใหม่ด้วย ซึ่งก็ทำให้การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเป็นเรื่องที่จำเป็น
ขณะนี้ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขหลายคนเชื่อว่า ประเทศต่าง ๆ ซึ่งพึ่งพาวัคซีนจากจีนก็จำเป็นต้องใช้วัคซีนกระตุ้นเข็มที่สามนี้ด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ด้านนโยบายสาธารณสุขไม่เชื่อว่าการต้องใช้วัคซีนกระตุ้นเข็มที่สามของจีนจะทำให้นโยบายการทูตวัคซีนลดความสำคัญลงแต่อย่างใด
เจสัน ลี ผู้ช่วยนักวิจัยด้านเอเชียตะวันออกที่ Stimson Center ในกรุงวอชิงตัน เชื่อว่าในช่วงเวลาที่โลกยังขาดแคลนและมีการกระจายวัคซีนอย่างเชื่องช้านั้น ความสัมพันธ์ด้านการทูตระหว่างประเทศผู้รับความช่วยเหลือกับจีนยังมีความสำคัญอยู่ต่อไป เพราะเป้าหมายหลักของแนวทางการฑูตวัคซีนของจีน คือการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนานั่นเอง
(ที่มา: VOA)