ในการสำรวจเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ที่จัดทำโดยสถาบัน ISEAS-Yusof Ishak ชี้ว่า ประชาชนส่วนใหญ่ในกลุ่มประชาคมอาเซียน เลือกจะอยู่ข้างสหรัฐฯ มากกว่าจีน หากจำเป็นต้องเลือกยืนข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ซึ่งการมีบทบาทของสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้ได้ส่งผลต่อทัศนคติของผู้คนในประชาคมอาเซียนนี้ด้วยเช่นกัน
เมลินดา มาร์ตินัส จากสถาบัน ISEAS-Yusof Ishak ให้ทัศนะกับวีโอเอว่า “ในช่วงปีที่แล้ว คณะทำงานของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้แต่งตั้งผู้ทำหน้าที่เอกอัครราชทูตประจำสำนักงานใหญ่อาเซียน นั่นคืออีกขั้นของความมุ่งมั่นที่ทำให้เขา (ปธน.ไบเดน) ได้รับความชื่นชมในประชาคมอาเซียน ต่อจากนั้นในปีที่แล้ว สหรัฐฯ ได้เปิดตัวกรอบเศรษฐกิจภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework – IPEF) ซึ่งกรอบเศรษฐกิจ IPEF ได้มอบความหวังให้กับประเทศในอาเซียนว่าสหรัฐฯ ได้กลับมาแล้ว”
ทั้งนี้ สหรัฐฯ เปิดตัวกรอบเศรษฐกิจภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก เมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว ไม่นานหลังจากความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership - RCEP) เริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคมปีก่อน
ในการสำรวจของสถาบัน ISEAS-Yusof Ishak ที่เปิดเผยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พบว่า 61% ของผู้คนในการสำรวจจำนวนกว่า 1,300 คน เลือกจะอยู่ข้างสหรัฐฯ มากกว่าจีน ขณะที่ 38.9% เลือกจะอยู่ข้างจีน หากจำเป็นต้องเลือกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ขณะที่การสำรวจเดียวกันนี้เมื่อช่วง 1 ปีก่อนหน้า สหรัฐฯ นำจีนอยู่เล็กน้อย ที่ 57% ต่อ 43%
เมื่อพิจารณาเป็นรายประเทศ พบว่า หากต้องเลือกว่าจะยืนข้างใครระหว่างสหรัฐฯ กับจีน มี 3 ประเทศในอาเซียนที่เลือกยืนข้างจีนมากกว่า ได้แก่ บรูไน อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ส่วนอีก 7 ประเทศเลือกยืนข้างอเมริกามากกว่า ซึ่งรวมถึงประเทศไทย โดยตัวเลขของไทย มีผู้ที่เลือกอยู่ข้างสหรัฐฯ ที่ 56.9% และ 43.1% เป็นผู้ที่เลือกจีน
นอกจากนี้ มุมมองเชิงลบต่อจีนเริ่มยกระดับขึ้นในหลายประเทศในอาเซียนที่มีข้อพิพาทด้านดินแดนกับจีนด้วย
มาร์ตินัส เสริมว่า "สิ่งนี้ (มุมมองเชิงลบ) เห็นได้ชัดในกลุ่มผู้ตอบการสำรวจในเวียดนามและฟิลิปปินส์ หากพวกเขาถูกถามให้เลือกระหว่างสหรัฐฯ กับจีน 2 ประเทศนี้จะเลือกสหรัฐฯ อย่างแน่นอน ... เพราะ 2 ประเทศนี้มีประเด็นตึงเครียดเกี่ยวกับทะเลจีนใต้กับจีนมากที่สุด”
อย่างไรก็ตาม จีนยังคงได้รับความนิยมมากกว่าในประเทศอาเซียนที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม อันได้แก่ มาเลเซีย บรูไน และอินโดนีเซีย
มาร์ตินัส อธิบายว่า “นั่นเป็นเพราะชาติมุสลิมในอาเซียนยังคงมีความรู้สึกเชิงลบต่อสหรัฐฯ ซึ่งถูกมองว่ายังอยู่ข้างอิสราเอลในความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์”
อย่างไรก็ตาม ในทัศนะของผู้เชี่ยวชาญ เห็นว่า ความรู้สึกที่ไม่สบายใจเกี่ยวกับจีนยังคงมีอยู่ในกลุ่มประเทศเหล่านั้น โดยเฉพาะในประเด็นด้านความมั่นคง อีกทั้งยังพบว่าผู้ที่อยู่ในการสำรวจล่าสุดนี้ไม่ได้เห็นด้วยกับการเลือกเข้าข้างจีนหากต้องแลกมาด้วยการสูญเสียความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ไป
ชิสกา พราบาวันนิงเตียส นักวิเคราะห์จาก Paramadina University ในกรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย เปิดเผยกับวีโอเอว่า “อินโดนีเซียไม่ควรตื่นตูมกับข้อกังวลที่ว่า “หากเราตัดสินใจที่จะร่วมมือกับจีน นั่นหมายความว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของพรรคพวกเขาแล้ว” นั่นไม่ใช่วิธีที่จะคิดแบบนั้น เรากำลังทำงานร่วมกับจีนเนื่องจากผลประโยชน์ที่มีร่วมกัน”
นอกเหนือจากประเด็นการแข่งขันขับเคี่ยวระหว่างสหรัฐฯ และจีน ปีนี้การสำรวจของ ISEAS-Yusof Ishak ยังสำรวจความเห็นของประชาคมอาเซียนเกี่ยวกับการรุกรานยูเครนของรัสเซีย ซึ่งผู้คนในการสำรวจนี้ส่วนใหญ่ประณามการกระทำของรัสเซียต่อยูเครน
- ที่มา: วีโอเอ