ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ศก.จีนโตต่ำกว่าคาด กดดันปักกิ่งก่อนประชุมใหญ่ตัดสินนโยบายเศรษฐกิจ


จีนเปิดเผยตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสที่สองของปีนี้ ซึ่งขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทำให้ขณะนี้ทุกสายตาต่างจับจ้องไปที่การประชุมด้านนโยบายที่กรุงปักกิ่งว่าจะมีมาตรการใดออกมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจหรือไม่

จีนเผชิญความท้าทายทางเศรษฐกิจหลายประการในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทั้งวิกฤตหนี้ภาคอสังหาริมทรัพย์ การบริโภคลดลง และอายุเฉลี่ยประชากรเพิ่มขึ้นมาก

ตลอดจนความตึงเครียดทางการค้ากับสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป สืบเนื่องจากการจำกัดการเข้าถึงเทคโนโลยีของจีนและการใช้กำแพงภาษีกีดกันสินค้าจากจีน

ตัวเลขของสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนชี้ว่า เศรษฐกิจจีนขยายตัวที่ระดับ 4.7% ระหว่างเดือนเมษายน - เดือนมิถุนายน ปีนี้ ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ที่ 5.1% จากการสำรวจของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก

สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน ระบุว่า ปัจจัยภายนอกที่ซับซ้อนส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจจีน เช่นเดียวกันความต้องการภายในประเทศที่ยังคงไม่เพียงพอ และจำเป็นต้องเพิ่มความแข็งแกร่งต่อรากฐานของการฟื้นตัวและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

โดยรัฐบาลจีนตั้งเป้าว่า เศรษฐกิจจะขยายตัวในระดับ 5% ในปีนี้

ประชุมใหญ่ Third Plenum

ในวันจันทร์ ประธานาธิบดีจีน สี จิ้นผิง เป็นเจ้าภาพเปิดการประชุมใหญ่ซึ่งถือเป็นการประชุมแบบลับของบรรดาผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีน เรียกว่าการประชุมครั้งที่ 3 (Third Plenum) ซึ่งจัดขึ้นทุก 5 ปี โดยปีนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-18 ก.ค.

ปกติแล้วการประชุมครั้งที่ 3 มักจะเป็นวาระเพื่อการตัดสินใจและประกาศนโยบายทางเศรษฐกิจที่สำคัญของพรรคคอมมิวนิสต์จีน อย่างเช่น การประชุมในปี 1978 ซึ่งประธานาธิบดีเติ้ง เสี่ยวผิง ใช้การประชุมนี้เป็นเวทีประกาศการเปิดประเทศและปฏิรูปเศรษฐกิจจีนไปสู่ระบบตลาดเสรี

อย่างไรก็ตาม แม้มีการคาดหมายว่าการประชุมครั้งที่ 3 ในปีนี้จะเป็นเวทีประกาศมาตรการปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อกระตุ้นการเติบโตของจีน แต่สื่อ The People's Daily ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน รายงานเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว "การปฏิรูปนั้นไม่ใช่การเปลี่ยนทิศทาง และการเปลี่ยนรูปก็ไม่ได้หมายความถึงการเปลี่ยนสีเช่นกัน"

ติง ลู่ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Nomura กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายหารือแนวคิดและนโยบายเศรษฐกิจในระยะยาว มากกว่าการจัดทำนโยบายในระยะสั้น

แฮรี เมอร์ฟี ครูส นักเศรษฐศาสตร์ของ Moody's Analytics เชื่อว่า เราคาดหวังว่าจะเห็นการปรับเปลี่ยนนโยบายแบบปานกลาง รวมถึงการขยายการผลิตสินค้าไฮเทค และเพิ่มการสนับสนุนภาคอสังหาริมทรัพย์และครัวเรือนต่าง ๆ เป็นต้น

  • ที่มา: เอเอฟพี

XS
SM
MD
LG