เมื่อต้นปีที่ผ่านมา จีนเริ่มอนุญาตให้หน่วยงานพัฒนาเอกชนหรือ NGOs ยื่นฟ้องร้องเอาความผิดต่อนิติบุคคลหรือบริษัทที่สร้างมลพิษแก่สิ่งแวดล้อมได้
และในปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา หน่วยงาน NGOs สองแห่งคือ Friends of Nature กับ Fujian Green Home ชนะความในศาลในการฟ้องร้องต่อผู้ต้องหา 4 ราย ที่สร้างความเสียหายรุนแรงต่อพืชคลุมดินใกล้กับเหมืองแห่งหนึ่งบนทิวเขาที่เมือง Nanping ใน Fujian
ในกรณีนี้ ศาลสั่งให้ผู้กระทำผิดย้ายสำนักงานออกจากพื้นที่เหมืองเพราะเข้าไปใช้พื้นที่โดยไม่ได้รับอนุญาตภายใน 5 เดือน และต้องฟื้นสภาพพืชคลุมดินที่ถูกทำลายด้วยการปลูกต้นไม้ทดแทนในช่วงหลายปีต่อจากนี้
ผู้ถูกกล่าวหายังต้องจ่ายเงินชดเชยความเสียหายมูลค่า 200,000 ดอลล่าร์สหรัฐด้วย
บรรดากลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในจีนต่างฉลองชัยชนะนี้ แม้ว่าจะเป็นกรณีเล็กๆ ก็ตามเพราะเห็นว่าช่วยสร้างตัวอย่างที่สำคัญในการเอาผิดกับผู้สร้างมลพิษแก่สิ่งเเวดล้อมในจีน
ในขณะที่กรณีเหล่านี้สร้างกำลังใจเเก่กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ปัญหาในจีนยังน่ากังวล ในปีค.ศ. 2014 จีนรายงานว่าเกิดวิกฤติด้านสิ่งเเวดล้อมถึง 400 ครั้ง บรรดานักรณรงค์ชี้ว่าทางการจีนควรเพิ่มจำนวนหน่วยงาน NGOs ที่สามารถยื่นฟ้องผู้สร้างมลพิษได้
ตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นมา หลังจากที่กฏหมายพิทักษ์สิ่งแวดล้อมฉบับแก้ไขมีผลบังคับใช้ มี NGOs อย่างน้อย 10 แห่งได้ยื่นฟ้องอย่างน้อย 40 คำฟ้องเพื่อเอาผิดต่อผู้สร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม
กรณีฟ้องร้องส่วนใหญ่ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีววิทยากับการพัฒนาเขียวแห่งจีน (China Biodiversity Conservation and Green Development Foundation) แต่แม้กระนั้น การชักจูงใจให้ศาลสั่งลงโทษผู้สร้างมลพิษในบางกรณีไม่ง่ายนัก เนื่องมาจากช่องว่างทางกฏหมายเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ฟ้องร้อง ทัศนคติของเจ้าหน้าที่ยุติธรรมที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนปัญหาด้านอิทธิพล
บรรดานักรณรงค์ชี้ว่าจีนสามารถปรับปรุงงานด้านสิ่งเเวดล้อมให้ดีขึ้นได้ ด้วยการให้หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมจากภายนอก เข้าไปตรวจสอบการทำงานของข้าราชการท้องถิ่นในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม
(ทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตันเรียบเรียงรายงานของ Joyce Huang )