ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ผู้นำหมู่เกาะคีรีบาสเรียกร้องห้ามการเปิดเหมืองถ่านหินแห่งใหม่เพื่อลดปริมาณแก๊สเรือนกระจก


Central Pacific island nation of Kiribati
Central Pacific island nation of Kiribati

ผู้นำหมู่เกาะคีรีบาย้ำว่าโลกมีเวลาเหลือไม่มากนักในการต่อสู้กับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน

ประเทศหมู่เกาะ Kiribati (คีรีบาส​) เป็นสมาชิกของกลุ่ม Climate Vulnerable Forum ที่มีสมาชิกจาก 40 ชาติที่ถือว่าเป็นชาติที่เสี่ยงมากที่สุดต่อผลกระทบจากภาวะโลกร้อน

กลุ่มดังกล่าวนี้ได้เรียกร้องให้ข้อตกลงอันใหม่ของสหประชาชาติกำหนดเสียใหม่ว่าอุณหภูมิโลกต้องไม่เพิ่มขึ้นไปเกิน 1.5 องศาเซลเซียส โดยเตือนว่ามีคนกว่าพันล้านคนทั่วโลกที่กำลังตกอยู่ในอันตรายจากผลกระทบจากภาวะโลกร้อน

ข้อตกลงของสหประชาชาตินี้มีกำหนดนำเข้าสู่การอนุมัติร่วมกันในระหว่างการประชุมว่าด้วยภาวะโลกร้อนที่ดำเนินอยู่ในกรุงปารีส

ประชากรของประเทศหมู่เกาะ Kiribati จำนวนหนึ่งแสนคน อยู่ในกลุ่มผู้ที่เสี่ยงต่อผลกระทบจากภาวะโลกร้อนดังกล่าวด้วย ประเทศหมู่เกาะ Kiribati เป็นหนึ่งในประเทศที่ด้อยพัฒนามากที่สุดในแปซิฟิกใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ชุมชนตามแนวฝั่งทะเลได้รับผลกระทบจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น

ขณะเดินทางเยือนออสเตรเลียเมื่อไม่นานมานี้ ประธานาธิบดี Anote Tong แห่งประเทศหมู่เกาะ Kiribati เตือนว่าจำเป็นต้องมีมาตรการที่เข้มเเข็งกว่าเดิม ออกมารับมือกับปัญหาภาวะโลกร้อน ไม่เช่นนั้นประเทศหมู่เกาะ Kiribati และประเทศหมู่เกาะอื่นๆ รวมทั้งหมู่เกาะ Tuvalu หมู่เกาะ Marshall Islands และหมู่เกาะ Maldives จะจมหายไปใต้ทะเล

ประธานาธิบดีแห่งประเทศหมู่เกาะ Kiribati กล่าวว่าควรห้ามไม่ให้มีการเปิดเหมืองถ่านหินเเห่งใหม่เพื่อลดปริมาณเเก๊สเรือนกระจก

ผู้นำประเทศหมู่เกาะ Kiribati กล่าวว่าเหลือเวลาไม่มากนักแล้วที่จะแก้ปัญหานี้ และตนคิดว่าจำเป็นต้องเน้นไปที่กิจกรรมหลักที่เป็นต้นตอของปัญหา และเชื่อว่าการห้ามเปิดเหมือนถ่านหินแห่งใหม่เป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล

ก่อนหน้านี้ ทางการออสเตรเลียได้ปฏิเสธข้อเรียกร้องให้จัดทำข้อห้ามชั่วคราวไม่ให้เปิดเหมืองถ่านหินแห่งใหม่ในออสเตรเลีย โดยอ้างว่าไม่มีประเทศใดได้รับประโยชน์จากข้อห้ามนี้

ออสเตรเลียเป็นหนึ่งในบรรดาชาติผู้ส่งออกถ่านหินรายใหญ่ของโลก และออสเตรเลียใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตกระเเสไฟฟ้า

รัฐบาลออสเตรเลียภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี Malcolm Turnball ได้สัญญาว่าจะลดปริมาณเเก๊สเรือนกระจกที่ออสเตรเลียปล่อยออกไปสู่ชั้นบรรยากาศ ลงให้ได้อย่างน้อย 26 เปอร์เซ็นต์จากระดับปี 2005 ภายใน 15 ปีข้างหน้า

โดยมีความเป็นไปได้ว่าจะลดลงมากกว่านั้นอีกหากไม่มีผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจของประเทศ

(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน )

XS
SM
MD
LG