ที่โรงงานแห่งหนึ่งตั้งอยู่ห่างจากกรุงปารีสไปทางใต้ราว 30 กิโลเมตร เศษอาหารที่เหลือจากบรรดานักรณรงค์ต่อต้านภาวะโลกร้อน นักวิชาการ และข้าราชการที่เข้าร่วมประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก กำลังถูกแปรสภาพให้กลายเป็นแก๊สชีวภาพ
แก๊สชีวภาพที่ได้จะถูกนำไปเผาไหม้ให้กลายเป็นพลังงานไฟฟ้า ส่วนกากที่เหลือจะถูกนำไปใช้เป็นปุ๋ยในไร่นาของเกษตรกร
คุณ Stephane Martinez ประธานบริษัทผลิตปุ๋ยและแก๊สชีวภาพจากขยะอาหาร Moulinot บริษัทเล็กๆ ที่จัดการขยะกล่าวว่า ในฝรั่งเศสมีคำเปรียบเปรยที่ว่าทุกอย่างที่ได้มาจากดินจะกลับคืนสู่ดินในที่สุด เขากล่าวว่าคำเปรียบเปรยนี้ใช้ได้กับขยะจากอาหาร
บริษัทของเขามีบทบาทสำคัญในการช่วยร้านอาหารและธุรกิจอื่นๆ ในกรุงปารีส ปรับตัวต่อกฏหมายใหม่ที่จะเปลี่ยนแปลงการจัดการกับขยะในฝรั่งเศส
ทางการฝรั่งเศสกำหนดให้บรรดาร้านอาหาร ซุปเปอร์มาร์เก็ต โรงอาหารของโรงเรียน ตลอดจนผู้บริการด้านอาหารประเภทอื่นๆ ต้องแยกขยะอาหารออกจากขยะประเภทอื่นๆ ขยะชีวภาพที่ได้จะนำไปแปรสภาพเป็นปุ๋ยหรือไม่ก็แปลงสภาพให้กลายเป็นพลังงาน
และเริ่มตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป กฏหมายใหม่จะออกมาบังคับให้ทุกหน่วยงานและธุรกิจที่ผลิตขยะมากกว่าปีละ 10 ตันปฏิบัติตามข้อกำหนดเดียวกันนี้ ร้านอาหารในฝรั่งเศสที่บริการลูกค้าวันละ 200 กว่าคนต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดนี้ ผู้ละเมิดจะถูกปรับแปดหมื่นดอลล่าร์สหรัฐและจำคุก 2 ปี
กฏหมายใหม่นี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของฝรั่งเศสในการลดปริมาณแก๊สเรือนกระจกที่ประเทศสร้างขึ้นในขณะที่ช่วยลดปริมาณขยะอาหารลง
โครงการอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติหรือเอฟเอโอรายงานว่า ในระดับทั่วโลก ราวหนึ่งในสามของอาหารที่โลกผลิตได้สูญเสียไปหรือถูกทิ้งไป นอกจากจะทำให้มีอาหารไม่เพียงพอแก่การเลี้ยงปากท้องประชากรโลกที่หิวโหยเกือบ 800 ล้านคน ขยะอาหารเหล่านี้ยังมีส่วนก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนอีกด้วย
คุณ Alexandre Meybeck เจ้าหน้าที่ด้านนโยบายอาวุโสของเอฟเอโอชี้ว่าเมื่ออาหารถูกทิ้งเป็นขยะ อาหารที่เน่าเปื่อยนี้จะแหล่งสร้างแก๊สมีเทนและแก๊สเรือนกระจก ที่ส่งผลให้สภาพอากาศโลกเปลี่ยนแปลง
(ทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยเรียบเรียงรายงานของ Steve Baragona)