จากกรณีที่รัฐบาลจีนออกมายืนยันว่า การเดินหน้าช่วยเหลือและสนับสนุนเงินให้แก่โครงการต่อเติมฐานทัพเรือเรียมในกัมพูชาเป็นเพียงการปรับปรุงฐานทัพและสร้างความแข็งแกร่งให้กับศักยภาพของกองทัพเรือกัมพูชาเท่านั้น ฝ่ายตรวจสอบข่าวสารของสำนักข่าววีโอเอ Polygraph พบว่า เป็นการบิดเบือนความจริง
โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน จ้าว ลี่เจี้ยน ถูกถามถึงข่าวในหนังสือพิมพ์ Washington Post ของสหรัฐฯ ที่รายงานว่า จีนกำลังแอบสร้างฐานทัพเรือลับของตนเองในกัมพูชา ซึ่งสื่อดังกล่าวอ้างข้อมูลจากรัฐบาลตะวันตกที่ไม่ประสงค์ที่จะเปิดเผยตัวและระบุว่า จีนจะมีสิทธิพิเศษในการเข้าใช้พื้นที่บางส่วนของฐานทัพเรือเรียม
สื่อสหรัฐฯ ข้างต้น ชี้ต่อว่า ฐานทัพเรือดังกล่าวในกัมพูชาจะเป็นฐานทัพเรือแห่งที่สองภายนอกประเทศจีน และเป็นแห่งแรกในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกซึ่งมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ โดยจะมาช่วยเติมเต็มแผนการขยายอำนาจทางทหารของจีนและการก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำโลก
ทั้งนี้ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ตอบข้อกล่าวหาข้างต้นว่า “รัฐธรรมนูญของกัมพูชาได้ระบุชัดเจนว่า ไม่อนุญาตให้มีการตั้งฐานทัพของต่างชาติในผืนดินของประเทศกัมพูชา และการที่จีนช่วยต่อเติมฐานทัพเรือเรียมนั้นก็เพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพของทัพเรือกัมพูชาและปราบปรามการถูกคุกคามทางน่านน้ำเท่านั้น”
ทีมงาน Polygraph ของสำนักข่าววีโอเอ ระบุว่า หนังสือพิมพ์ Washington Post ได้สัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลจีนกรุงปักกิ่งซึ่งยืนยันว่า พื้นที่บางส่วนของฐานทัพเรียมจะถูกใช้โดย “กองกำลังจีน” โดยจะมีการดำเนินงานค้นคว้าวิจัยในพื้นที่ดังกล่าวด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้ขัดแย้งกับสิ่งที่โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนกล่าวว่า ฐานทัพเรือเรียมจะถูกใช้โดยกัมพูชาเพียงผู้เดียว
หนังสือพิมพ์ The Wall Street Journal รายงานเมื่อปี 2019 ว่า รัฐบาลจีนกับรัฐบาลกัมพูชาได้ร่างสัญญาที่จะให้จีนใช้ฐานทัพเรือถึง 30 ปี และจะต่อสัญญาโดยอัตโนมัติทุก ๆ 10 ปีหลังจากนั้น โดยจีนจะสามารถประจำกองกำลังทหาร เก็บอาวุธยุทโธปกรณ์และจอดเรือรบได้ เพื่อแลกกับการให้เงินสนับสนุนรัฐบาลกัมพูชา
รายงานดังกล่าวที่อ้างแหล่งข้อมูลที่ไม่สามารถเปิดเผยตัวตนได้แต่ยืนยันว่า ได้เห็นร่างข้อตกลงดังกล่าวที่ระบุว่า จีน “จะได้รับสิทธิ์พิเศษในการใช้พื้นที่บางส่วนของฐานทัพเรือกัมพูชาในอ่าวไทย ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากสนามบินขนาดใหญ่แห่งหนึ่งที่มีบริษัทสัญชาติจีนเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างอยู่
นอกจากนั้น ข้อมูลในร่างข้อตกลงที่ว่ายังระบุว่า เจ้าหน้าที่กองทัพจีนจะได้รับอนุญาต “ให้ติดอาวุธ และได้รับพาสปอร์ตกัมพูชา ทั้งยังจะบังคับชาวกัมพูชาให้ต้องยื่นเรื่องของคำอนุญาตให้เข้าพื้นที่ขนาด 62 เอเคอร์ที่จีนดูแลภายใน (ฐานทัพเรือ) เรียม ด้วย
The Wall Street Journal ยังอ้างถึงสำเนาจดหมายที่มีการโต้ตอบระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐฯ และกัมพูชา และรายงานว่า กรุงวอชิงตันเริ่มสงสัยเกี่ยวกับความเป็นไประหว่างกัมพูชาและจีนตั้งแต่เมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2019 หลังรัฐบาลพนมเปญลุกขึ้นมาปฏิเสธข้อเสนอเงินสนับสนุนเพื่องานบูรณะต่าง ๆ ที่ตนเป็นผู้ยื่นขอไปในตอนแรก
สำนักข่าวรอยเตอร์ ซึ่งได้เห็นสำเนาจดหมายดังกล่าวเช่นกัน รายงานในเดือนกรกฎาคม ปี 2019 ว่า จดหมายฉบับหนึ่งที่ โจเซฟ เฟลเตอร์ อดีตรองผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้ดูแลพื้นที่เอเชียใต้และตะวันออกเฉียงใต้ ส่งให้แก่รัฐมนตรีกลาโหมกัมพูชา สะท้อนภาพ “ความกังวลของกรุงวอชิงตัน เกี่ยวกับการที่จีนส่งกองทัพของตนเข้าไปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ด้วย
ในเวลานั้น โฆษกกระทรวงกลาโหมจีนเรียกสิ่งที่สำนักข่าว The Wall Street Journal รายงานว่า เป็นเพียง “ข่าวลือ” เท่านั้น และบอกเพียงว่า ทหารจีนมาช่วยซ้อมการฝึกรบและให้การช่วยเหลือด้านยุทโธปกรณ์เท่านั้น ขณะที่ ทางการกัมพูชาออกมาปฏิเสธรายงานข่าวเกี่ยวกับข้อตกลงที่ว่า และนายกรัฐมนตรี ฮุน เซน ระบุว่า รายงานข่าวดังกล่าวเป็น “ข่าวที่แต่งขึ้นมากี่ยวกับกัมพูชาที่แย่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา”
แต่หากมองดูภาพรวม ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ความสัมพันธ์ระหว่างกัมพูชาและสหรัฐฯ ถดถอยลงเรื่อย ๆ หลังสหรัฐฯ วิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับนโยบายแข็งกร้าวของนายกรัฐมนตรี ฮุน เซน ซึ่งรวมถึงการปราบปรามผู้เห็นต่างทางการเมืองและภาวะถดถอยด้านประชาธิปไตยของประเทศนี้
และเมื่อปีที่ผ่านมา รายงานของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (เพนตากอน) กัมพูชาได้รื้อถอนอาคารถึงสองแห่งในฐานทัพเรือเรียมที่สหรัฐฯ ให้ทุนสร้าง ซึ่งเกิดขึ้นหนึ่งปีหลังกัมพูชาปฏิเสธข้อเสนอของสหรัฐฯ ที่จะช่วยซ่อมแซมฐานทัพเรือเรียม
ทั้งนี้ สหรัฐฯ ได้ให้เงินสนับสนุนฐานทัพเรือเรียมตั้งแต่ปี 2007 เพื่อที่จะช่วยฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศ เพราะเมื่อปี 1975 สหรัฐฯ ได้ทิ้งระเบิดลงที่ฐานทัพเรือเรียมในภารกิจขับไล่กลุ่มเขมรแดงที่ลุกฮือขึ้นมายึดประเทศและเรือขนส่งสินค้าของสหรัฐฯ
แม้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา เวนดี เชอร์แมน จะเดินทางมาเยือนกรุงพนมเปญในกลางปีที่แล้วเพื่อแสดงความวิตกกังวลและถามไถ่รัฐบาลกัมพูชาถึงเรื่องการรื้อถอนที่เกิดขึ้น ทางการกัมพูชาได้ยอมรับเพียงว่า จีนกำลังช่วยต่อเติมยกระดับฐานทัพเรือ และการร่วมมือกับจีนไม่มีข้อผูกมัดใด ๆ ทั้งสิ้น
ขณะเดียวกัน แอนโธนี อัลบานีส นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของออสเตรเลีย ได้เรียกร้องให้จีนออกมาอธิบายเกี่ยวกับแผนงานด้านการทหารของตนเช่นกัน โดยระบุว่า กรุงแคนเบอร์ราตระหนักถึงการเคลื่อนไหวของจีนที่ฐานทัพเรือเรียมมาระยะหนึ่งแล้ว และว่า จีนควรจะแสดงความโปร่งใสเกี่ยวกับเจตนาของตน และสร้างความมั่นใจว่า กิจกรรมต่าง ๆ นั้นมีจุดประสงค์ที่จะสนับสนุนความมั่นคงและเสถียรภาพของภูมิภาคอย่างแท้จริง
อย่างไรก็ดี เมื่อวันพุธที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่จีนและกัมพูชาร่วมพิธีเปิดหน้าดินของโครงการบูรณะฐานทัพเรือเรียมกันแล้ว ได้ใช้โอกาสดังกล่าวเพื่อยืนยันว่า โครงการนี้ไม่ได้เป็นภัยคุกคามต่อผู้ใดทั้งสิ้น
รัฐมนตรีกลาโหมกัมพูเชา เตีย บัน กล่าวในระหว่างเข้าร่วมงานดังกล่าวและยืนอยู่หน้าป้ายที่ระบุว่า โครงการนี้ได้รับการสนับสนุน ‘เป็นเงินช่วยเหลือก้อนโตจากสาธารณรัฐประชาชนจีน’ ว่า “ได้โปรดอย่ากังวลจนเกินไปเกี่ยวกับฐานทัพเรียม” และว่า “ท่าเรือนี้เล็กเกินกว่าที่จะเป็นภัยคุกคามต่อประเทศใดได้ แม้หลังการปรับปรุงแล้วก็ตาม”
- ที่มา: วีโอเอ Polygraph