แม้ว่ารัฐบาลจีนได้ประกาศยกเลิกการใช้นโยบายมีลูกได้คนเดียวมาตั้งแต่เดือน ม.ค ปีนี้ แต่ครอบครัวชาวจีนหลายล้านครอบครัวที่มีลูกหลายคนมาก่อนหน้านั้น ยังต้องเผชิญกับผลกระทบของนโยบายลูกคนเดียว ซึ่งรวมถึงการจ่ายค่าปรับทางสังคม และเด็กบางคนก็ยังไม่ได้รับสถานะพลเมืองอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
คุณ Fan Ziting คือหนึ่งในพ่อแม่ชาวจีน 30 คน ที่ชุมนุมหน้ากระทรวงสาธารณสุขมณฑลกวางตุ้งในวันอังคาร เพื่อเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่จีนทบทวนมาตรการจ่ายเงินค่าปรับสำหรับครอบครัวที่มีลูกเกินหนึ่งคน ตามนโยบายลูกคนเดียวที่รัฐบาลจีนใช้มานานหลายสิบปี ก่อนที่จะยกเลิกไปเมื่อสิ้นปีที่ผ่านมา
คุณ Fan เสียค่าปรับเป็นเงินราว 28,000 ดอลล่าร์เมื่อมีลูกคนที่สอง ซึ่งสูงกว่ารายได้ต่อปีของครอบครัวถึง 6 เท่า นอกจากนี้ยังสูญเสียสวัสดิการทางสังคมหลายอย่าง
แต่เวลานี้ จำนวนสมาชิก 4 คนของครอบครัว Fan กลับกลายเป็นตัวเลขที่รัฐบาลจีนสนับสนุน หลังจากเริ่มอนุญาตให้พ่อแม่มีบุตรได้สองคนตั้งแต่เดือน ม.ค ที่ผ่านมา ถึงกระนั้นค่าปรับจำนวนมากที่คุณ Fan ต้องเสียนั้นยังเป็นฝันร้ายที่ตามมาหลอกหลอนครอบครัวนี้อยู่
คุณ Fan บอกว่า นอกจากครอบครัวต้องอยู่อย่างอดอยาก เพราะเงินค่าปรับนั้นแล้ว ลูกคนที่สองยังไม่สามารถลงทะเบียนเป็นพลเมืองอย่างถูกต้องตามกฎหมายได้ด้วย
ผลสำรวจสำมะโนประชากรเมื่อปี 2014 ชี้ว่า จีนมีประชากรที่ไม่ได้ลงทะเบียนอย่างถูกต้องราว 13 ล้านคน ในจำนวนนี้ครึ่งหนึ่งเป็นลูกคนที่สองของครอบครัว
ส่วนคุณ Dong Yulong คุณพ่อลูกสองอีกผู้หนึ่งบอกว่า ตนจะใช้การดำเนินการทางกฎหมายเพื่อให้ศาลสั่งยกเลิกค่าปรับ เพราะตนคิดว่าสิทธิในการมีบุตรนั้นควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน
ทางด้านคุณ Wu Youshui ทนายความของคุณ Dong ระบุว่าในกรณีของคุณ Dong และคุณ Fan ซึ่งมีบุตรคนที่สองในช่วงที่รัฐบาลกำลังพิจารณาผ่อนคลายนโยบายลูกคนเดียวนั้น ไม่ควรรวมอยู่ในกลุ่มที่ต้องจ่ายค่าปรับหรือถูกลงโทษเพราะมีลูกคนที่สอง ทนาย Wu ยังแนะนำให้รัฐบาลจีนยกเลิกค่าปรับต่อครอบครัวชาวจีนหลายล้านคนที่มีลูกสองคนมาก่อนที่รัฐบาลจะอนุญาตด้วย
ทนายความผู้นี้ได้สำรวจข้อมูลการเสียค่าปรับของครอบครัวที่มีลูกมากกว่า 1 คน ที่จ่ายให้กับรัฐบาลส่วนท้องถิ่น 24 แห่ง พบว่าค่าปรับที่เรียกว่า “Social Maintenance Fees” หรือค่าบำรุงสังคมนั้น มีมูลค่าสูงถึง 310 ล้านดอลล่าร์ เฉพาะในปี ค.ศ 2012 แต่ไม่มีรัฐบาลส่วนท้องถิ่นแห่งไหนเลยที่สามารถระบุได้ว่าเงินส่วนนั้นอยู่ที่ไหน หรือถูกใช้ไปในกิจการใดบ้าง
ที่ผ่านมา รัฐบาลส่วนท้องถิ่นเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายลูกคนเดียว ซึ่งรวมถึงการกำหนดบทลงโทษ และอาจถึงขั้นบังคับให้ทำแท้ง ซึ่งการบังคับให้ทำแท้งนี้ ถือเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้แต่ละปีมีสามีภรรยาชาวจีนหลายพันคนต้องขอลี้ภัยไปต่างประเทศตลอดช่วง 20 ปีที่ผ่านมา
คุณ Chen Yaya นักวิจัยที่สถาบันสังคมศึกษานครเซี่ยงไฮ้ คือผู้หนึ่งที่ต่อต้านนโยบายคุมกำเนิดของรัฐบาลจีน โดยบอกว่าเป้นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของทั้งแม่และเด็กที่จะเกิดมา
คุณ Chen บอกว่านโยบายที่รัฐบาลควรนำมาใช้เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนมีลูกมากขึ้นหรือน้อยลงนั้น ควรเป็นมาตรการให้สิ่งจูงใจมากกว่าการลงโทษ และว่ายังมีปัญหาอีกมากที่รัฐบาลจีนต้องแก้ไข ซึ่งเป็นผลมาจากการใช้นโยบายลูกคนเดียวตลอดช่วง 20 ปีผ่านมา
(ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียงรายงานจากผู้สื่อข่าว Joyce Huang)