จีนเพิ่งเปิดตัวเรือบรรทุกเครื่องบินลำแรกที่ผลิตในประเทศ และเป็นลำที่สองของกองทัพจีน ต่อจากเรือ “เหลี่ยวหนิง” ที่ซื้อมาจากยูเครนเมื่อหลายปีก่อน
นักวิเคราะห์เชื่อว่าเป็นการยกระดับศักยภาพทางการทหารครั้งสำคัญของปักกิ่ง และอาจช่วยขยายอิทธิพลทางทหารของจีนจากมหาสมุทรแปซิฟิกไปยังมหาสมุทรอินเดียด้วย!
สื่อของทางการจีนรายงานข่าวพิธีเปิดตัวเรือบรรทุกเครื่องบินลำใหม่ของจีน ซึ่งเป็นเรือบรรทุกเครื่องบินลำแรกที่ผลิตในประเทศ และถือเป็นความภาคภูมิใจของกองทัพจีน
นักวิเคราะห์เชื่อว่าการเปิดตัวเรือบรรทุกเครื่องบินลำที่สองของจีนครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงความพยายามของจีนในการพัฒนาเรือบรรทุกเครื่องบินและศักยภาพทางการทหารโดยรวม
ตลอดจนเป้าหมายใหญ่กว่านั้น คือการขยายอิทธิพลทางทหารเข้าไปในแถบมหาสมุทรอินเดีย
สื่อของทางการจีนรายงานว่า เรือบรรทุกเครื่องบินลำใหม่นี้จะเริ่มนำมาประจำการในกองทัพในปี ค.ศ. 2020 ซึ่งระหว่างนี้จะทดสอบล่องตามน่านน้ำต่างๆ เช่นเดียวกับเรือลำแรก และจะนำไปติดตั้งอาวุธให้เรียบร้อยก่อนใช้งานจริง
เรือบรรทุกเครื่องบินลำแรกของจีนที่มีชื่อว่า “เหลี่ยวหนิง” นั้น จีนซื้อมาจากยูเครน เป็นเรือเก่าจากสมัยสหภาพโซเวียต แล้วนำมาบูรณะใหม่พร้อมติดตั้งระบบอาวุธต่างๆ โดยเรือเหลี่ยวหนิงเริ่มทดสอบทางทะเลเมื่อปี ค.ศ. 2011 และปัจจุบันได้นำมาใช้ปฏิบัติการลาดตระเวนอยู่ในแถบทะเลจีนใต้
สำหรับเรือลำที่สองนี้มีขนาดใหญ่กว่าลำแรกเล็กน้อย และมีลักษณะภายนอกคล้ายกับเรือเหลี่ยวหนิง จนหลายคนเรียกว่า “เหลี่ยวหนิงปรับปรุงใหม่” ด้วยการยกระดับศักยภาพด้านการต่อสู้และการฝึกฝน นอกจากนี้ยังขยายส่วนที่ใช้จอดเครื่องบินให้มีขนาดกว้างกว่าเดิม
คุณ Alex Neill แห่ง International Institute for Strategic Studies เรียกพิธีเปิดตัวเรือบรรทุกเครื่องบินลำใหม่ของจีนว่าเป็น “จุดเปลี่ยนสำคัญ” เพราะการที่เรือลำนี้บรรจุเชื้อเพลิงได้มากขึ้น หมายความว่าจะสามารถเดินทางได้ไกลขึ้นกว่าเดิม ถือเป็นการขยายอิทธิพลทางทหารของจีนเข้าสู่พื้นที่ใหม่ๆ
นักวิเคราะห์ผู้นี้มั่นใจว่า เรือบรรทุกเครื่องบินลำที่สองของจีนน่าจะถูกใช้ในปฏิบัติการที่ไกลกว่าทะเลจีนใต้ นั่นคือมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งเป็นเป้าหมายระยะยาวของจีน
คุณ Neill ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงแถบเอเชีย-แปซิฟิก บอกว่า
"ลำพังแค่เรือลำใหญ่นั้นอาจเป็นแค่แผ่นเหล็กลอยน้ำ ที่ไม่ได้มีจุดประสงค์หลักในการต่อสู้ แต่ศักยภาพจริงๆ ของมันคือการสนับสนุนยุทธศาสตร์การป้องกันและโจมตีโดยรวมทั้งทางอากาศและทางทะเล"
ด้านคุณ Richard Bitzinger แห่ง S. Rajaratnam School of International Studies ในสิงคโปร์ ชี้ว่าแม้ในภาพรวมแล้ว จีนยังตามหลังหลายประเทศ รวมทั้งสหรัฐฯ อยู่มาก ทั้งในด้านของศักยภาพและจำนวนเรือบรรทุกเครื่องบิน แต่ประเด็นสำคัญคือการใช้ประโยชน์จริงจากเรือดังกล่าว รวมทั้งการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของจีนในด้านนี้ด้วย
ปัจจุบัน สหรัฐฯ มีเรือบรรทุกเครื่องบินประจำการทั้งหมด 10 ลำ และเมื่อไม่นานนี้ก็เพิ่งสิ้นสุดการทดสอบทางทะเลของเรือยักษ์ Gerald R. Ford Supercarrier ที่มีขนาดราว 18,000 ตารางเมตร ระวาง 1 แสนตัน ขับเคลื่อนดัวยพลังงานนิวเคลียร์ และสามารถล่องทะเลได้นาน 90 วันโดยไม่ต้องแวะเติมเชื้อเพลิง
ขณะที่ในบทความซึ่งตีพิมพ์ใน China Daily ฉบับวันพุธ นักวิเคราะห์ด้านการทหารของจีน Wang Xiaoxuan ชี้ว่า “หากเทียบกับกองกำลังทางทะเลของประเทศมหาอำนาจอื่นๆ ดูเหมือนกองทัพเรือของจีนจะยังเทียบไม่ได้ เพราะทั้งเครื่องบิน เรือดำน้ำ และเรือรบอื่นๆ ของจีน ยังไม่ผสานรวมอย่างกลมกลืนเป็นกองกำลังเดียวกัน”
ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเชื่อว่า ในที่สุดแล้ว จีนตั้งใจจะมีเรือบรรทุกเครื่องบินประจำการอย่างน้อย 4 ลำ และมีสองลำที่ออกปฏิบัติการในเวลาเดียวกันตลอดเวลา
(ผู้สื่อข่าว Bill Ide รายงานจากกรุงปักกิ่ง / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง)