นายกรัฐมนตรีฮุน เซน ของกัมพูชา กำลังเตรียมตัวเยือนกรุงปักกิ่งในเดือนหน้าเพื่อเจรจาขอกู้เงินเป็นจำนวนกว่า 4,000 ล้านดอลลาร์เพื่อมาดำเนินการสร้างรถไฟความเร็วสูงที่จะเชื่อมกรุงพนมเปญเข้ากับศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่ติดกับพรมแดนไทย
นายกฯ ฮุน เซน บอกกับผู้สื่อข่าวระหว่างการประชุมประจำปีเมื่อวันที่ 14 มกราคมว่า “ผมหวังว่า การเดินทางเยือน[จีน] ที่จะมีขึ้นจะนำมาซึ่งโครงการใหม่ ๆ ที่เราจะต้องพึ่งเพื่อนจีนเพื่อพัฒนากัมพูชา ซึ่งรวมถึงรางรถไฟความเร็วสูง”
การเดินทางเยือนจีนอย่างเป็นทางการของผู้นำกัมพูชานั้นมีกำหนดเริ่มในวันที่ 9 กุมภาพันธ์
รายงานข่าวระบุว่า ข้อตกลงที่กัมพูชาเตรียมไปเสนอกับจีนนั้นแสดงให้เห็นถึงสัญลักษณ์ของมิตรภาพ “อันแข็งแกร่งดุจเหล็กกล้า” ระหว่างสองประเทศซึ่งผู้สังเกตการณ์ชี้ว่า เป็นสถานการณ์ที่กัมพูชาพึ่งพาเงินทุนจีนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งอาจนำไปสู่ “กับดักหนี้” ที่จะมาพร้อมผลสืบเนื่องด้านภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจระยะยาวด้วย
กระทรวงโยธาธิการและการขนส่งกัมพูชาเปิดเผยเมื่อวันที่ 23 มกราคมว่า บริษัท China Road and Bridge Corporation (CRBC) ได้ทำการศึกษาโครงการรถรางนี้ที่มีระยะทาง 385 กิโลเมตรและจะให้ขบวนรถวิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเรียบร้อยแล้ว โดยรถไฟสายนี้จะวิ่งจากกรุงพนมเปญมาไปยังเมืองปอยเปตทางตะวันตกของประเทศ
เอกสารของรัฐบาลกัมพูชาที่มีชื่อว่า Public Debt Statistical Bulletin ที่กระทรวงเศรษฐกิจและการคลังเปิดเผยออกมาเมื่อเดือนธันวาคมของปีที่แล้วว่า โครงการนี้เป็นความหวังที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของกัมพูชาได้อย่างดี ในช่วงเวลาที่หนี้ต่างประเทศของตนนั้นสูงถึงระดับเกือบ 10,000 ล้านดอลลาร์อยู่
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้กลับมาจุดประเด็นโต้เถียงกันว่า แนวคิดริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative – BRI) อาจทำให้ประเทศต่าง ๆ ต้องติดกับของกรุงปักกิ่ง โดยเฉพาะถ้าผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่แต่ละประเทศหวังไม่ได้เกิดขึ้นดังคาด
เอี๊ยะ โสพาล นักวิชาการด้านการพัฒนาและการเมืองกัมพูชา จาก Thunderbird School of Global Management ของมหาวิทยาลัยรัฐแอริโซนา (Arizona State University) บอกกับผู้สื่อข่าว วีโอเอ ภาคภาษาเขมร ว่า “การพึ่งพาประเทศใดประเทศหนึ่งอย่างต่อเนื่อง คือ ความเสี่ยง ... คุณไม่ต้องการจะหวังพึ่งพาสิ่งหนึ่งสิ่งใดเพียงสิ่งเดียว ... กัมพูชาทำอย่างนั้นมาตลอดและก็ยังทำอยู่ ... การติดหนี้จีนในระดับเกือบ 50% ของหนี้สาธารณะไม่ใช่เรื่องดี” และว่า “นี่เป็นเรื่องที่มากเกินไป และ [ฮุน เซน] ก็กำลังผูกอนาคตทางการเมืองของเขาไว้กับจีน ... เขาทำแบบนั้นมาหลายปีแล้ว และจะยังคงเดินหน้าทำอย่างเต็มกำลังต่อไปด้วย”
คำเตือนจากสหรัฐฯ
รัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งแข่งขันกับจีนในเวทีโลกอยู่ ออกมาเตือนประเทศต่าง ๆ ให้ระวังการกู้ยืมเงินก้อนโต ๆ ภายใต้ยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐาน BRI ของจีนไว้ให้ดี
กรุงวอชิงตันกล่าวว่า แนวคิดริเริ่ม BRI นั้นเป็น กับดักหนี้แบบหนึ่ง และอาจทำให้หลายประเทศสูญเสียอำนาจการควบคุมโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของตนที่ถูกนำมาใช้เป็นหลักประกัน ดังเช่น กรณีของศรีลังกาที่ “ติดกับ” ไปแล้ว เพราะกรุงปักกิ่งเป็นฝ่ายควบคุมท่าเรือหลักของประเทศนี้ที่ถูกนำมาใช้แทนการชำระหนี้
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลฮุน เซน แย้งว่า การกู้ยืมเงินของตนนั้นยังควบคุมได้อยู่ โดยกระทรวงเศรษฐกิจและการคลังของกัมพูชา อ้างตัวเลขจากรายงานหนี้สาธารณะ Public Debt Statistical Bulletin เมื่อปีที่แล้ว และระบุว่า ระดับหนี้ต่างประเทศของกัมพูชาในปัจจุบันที่ 9,470 ล้านดอลลาร์ (หรือราว 35% ของจีดีพีมูลค่า 27,000 ล้านดอลลาร์) นั้นจะปรับขึ้นอย่างไม่น่ากังวลมาเป็นราว 12,620 ล้านดอลลาร์ในปีนี้
รายงานจาก Kiel Institute ในประเทศเยอรมนีที่ออกมาเมื่อปี ค.ศ. 2019 มีการประเมินว่า กัมพูชานั้นเป็นประเทศที่มีภาระหนี้สูงที่สุดเป็นอันดับที่ 6 ของ 50 ประเทศที่กู้เงินจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชนของจีน เมื่อดูจากสัดส่วนของจีดีพี
นักวิจัยของสถาบันแห่งนี้กล่าวด้วยว่า “กัมพูชาและประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย เช่น ลาวและสาธารณรัฐคีร์กีซ นั้น “ตกอยู่ในภาวะเสี่ยงอย่างมาก (จากการเป็น)ประเทศเล็ก ๆ ที่มีความใกล้ชิดทางภูมิศาสตร์กับจีน”
ขณะเดียวกัน แถลงการณ์ของสถานทูตจีนประจำกรุงพนมเปญที่ออกมาเมื่อเดือนเมษายน ปี ค.ศ. 2019 ระบุว่า ถนนหลวง 31 สายและสะพาน 8 แห่งในกัมพูชา ที่มาระยะทางรวมกันราว 3,000 กิโลเมตร เป็นโครงการที่จีนให้เงินสนับสนุนและช่วยสร้าง แต่แถลงการณ์นี้ไม่ได้ให้รายละเอียดว่า ตัวเลขหนี้ที่พอกพูนขึ้นมาจากโครงการทั้งหมดนี้อยู่ที่ระดับเท่าไหร่
แต่รายงานข่าวเปิดเผยว่า โครงการถนนแบบที่มีการเก็บค่าผ่านทางสายหนึ่งซึ่งกัมพูชาเพิ่งเปิดให้บริการใช้เงินก่อสร้างสูงถึง 1,900 ล้านดอลลาร์ในรูปของเงินกู้จากรัฐบาลจีนที่จ้างบริษัท China Road and Bridge Corporation มาทำการก่อสร้างภายใต้สัญญาแบบ Build Operate Transfer (BOT) ซึ่งก็คือ โครงการที่หน่วยงานเอกชนสร้างสิ่งปลูกสร้างระบบสาธารณูปโภคขึ้นใหม่ และบริหารจัดการด้วยความเสี่ยงของตนเอง ก่อนจะโอนถ่ายทรัพย์สินนั้นให้แก่ภาครัฐเมื่อเสร็จสิ้นสัญญา
ดาบสองคม
สภาพเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลงทำให้การเดินหน้าโครงการต่าง ๆ ในแถบเมืองริมทะเลของกัมพูชาต้องหยุดชะงัก ขณะที่ ชาวบ้านจำนวนมากที่ถูกทางการขับไล่ออกจากบ้านเรือนของตนเพื่อเปิดทางให้กับแผนก่อสร้างทั้งหลายก็ออกมาประท้วงเรียกร้องเงินชดเชยจำนวนสูงกว่าที่เสนอมาด้วย
จิง จิง ลั่ว และ เคียง อุน สองนักวิชาการร่วมกันเขียนบทความในวารสาร Contemporary Southeast Asia ว่า เงินลงทุนและความช่วยเหลือของจีนเป็นเหมือนดาบสองคมสำหรับพรรคประชาชนกัมพูชา (Cambodian People’s Party – CPP) โดยระบุว่า “การมีส่วนร่วมของจีนนั้นทั้งช่วยเสริมสร้างและบ่อนทำลายความชอบธรรมของพรรค CPP (เพราะ)ขณะที่ (จีน)ช่วยเสริมสร้างการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้ เงินลงทุนจากจีนบางส่วนกลับส่งแรงสะท้อนกลับด้านลบต่อเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนชาวกัมพูชา ซึ่งก็กลับมากระทบต่อความชอบธรรมของพรรค CPP นั่นเอง”
อย่างไรก็ตาม นายกฯ ฮุน เซน ไม่ได้แสดงให้เห็นว่า ตนเองมีความกังวลเกี่ยวกับการกระชับความสัมพันธ์ทางการเงินกับจีนออกมาเลย
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา กัมพูชาเดินหน้าการก่อสร้างโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่หลายสิบโครงการในพื้นที่ชนบทห่างไกลด้วยเงินกู้จากจีน ขณะที่ เงินลงทุนจำนวนมหาศาลจากจีนก็ไหลเข้ามาสู่ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเขตเมืองและพื้นที่ริมฝั่งทะเลทั้งหลายด้วย
เมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา นายกฯ ฮุน เซน กล่าวว่า ตนมีแผนจะลงนามในข้อตกลงหนึ่งระหว่างการเดินทางไปเยี่ยมชมโครงการทางด่วนพนมเปญ-บาเวต ซึ่งมีมูลค่าการก่อสร้างที่ 1,630 ล้านดอลลาร์
และขณะที่ ทั้งจีนและกัมพูชาต่างปฏิเสธประเด็นวา ทั้งคู่กำลังทำการต่างตอบแทนทางการทูตกันอยู่ นายกฯ ฮุน เซน ยังแสดงตนเป็นผู้สนับสนุนผลประโยชน์ของจีนที่กรุงปักกิ่งไว้ใจได้ในเวทีโลกเสมอ แม้ว่าความตึงเครียดในแถบทะเลจีนใต้และไต้หวันจะยกระดับขึ้นอย่างต่อเนื่องก็ตาม
เมื่อเดือนสิงหาคมของปีที่แล้ว ฮุน เซน กล่าวย้ำระหว่างการหารือกับ หวัง อี้ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน ที่กรุงพนมเปญ ว่า กัมพูชายึดมั่นอย่างมากต่อหลักการจีนเดียว และมองว่า ไต้หวันคือส่วนหนึ่งของอาณาเขตจีนที่ไม่อาจแบ่งแยกออกไปได้ ขณะที่ รมต.อี้ กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างจีนและกัมพูชานั้น “ออกดอกออกผลมาเรื่อย ๆ ... แสดงให้เห็นถึงโอกาสที่จะพัฒนากันได้ต่อไปอีกมาก”
วีโอเอ ส่งอีเมลไปยังสถานทูตจีนในกรุงพนมเปญเพื่อขอความเห็นเกี่ยวกับรายงานข่าวนี้ แต่ไม่ได้รับการตอบกลับมา
เสียงเรียกร้องหาความโปร่งใส
อิม โสวานนารา ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์จาก Royal Academy of Cambodia กล่าวว่า รัฐบาลกัมพูชาควรมีความโปร่งใสเกี่ยวกับภาวะหนี้ของรัฐและดำเนินการให้มั่นใจว่า เงินกู้ต่าง ๆ “มีไว้เพื่อเป็นประโยชน์ตามความต้องการของประชาชนชาวกัมพูชาอย่างแท้จริง”
อิม โสวานนารา แนะด้วยว่า รัฐบาลกัมพูชาควรพิจารณาหาเงินกู้จากประเทศอื่น ๆ เพื่อให้เกิดความสมดุลในด้านภาระหนี้ต่างประเทศ โดยชี้ว่า เงินกู้แหล่งอื่น ๆ อาจะเป็น เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น หรือแม้แต่ประเทศตะวันตกอื่น ๆ ที่จะมาช่วยทำให้เกิดสมดุลที่ว่านี้
ในเรื่องนี้ สก อีสาน โฆษกพรรค CPP กล่าวว่า รัฐบาลนายกฯ ฮุน เซน มี “หลักการอันชัดเจน” เกี่ยวกับการกู้ยืมจากต่างประเทศ และว่า “[ผู้ที่ออกมาวิจารณ์] กล่าวว่า ตัวเลข(ที่รัฐบาลกู้ยืมมา)นั้นสูง แต่มันก็เป็นเพียง 36% ของจีดีพีของกัมพูชา ซึ่ง(เป็นระดับที่)รัฐบาลกัมพูชาสามารถควบคุมระดับหนี้ระหว่างประเทศได้ และเราก็มีความสามารถที่จะจ่ายหนี้ได้ ไม่มีอะไรที่ควรกังวลเลย”
แต่ในความเป็นจริง นายกฯ ฮุน เซน ออกมาสรรเสริญวิถีการทูต “แบบไม่มีเงื่อนไขเรียกร้องใด ๆ” ของจีนตลอดเวลา ขณะที่ ความสัมพันธ์ของกัมพูชากับชาติตะวันตกก็ย่ำแย่ลงเพราะนโยบายปรามปรามกลุ่มผู้เห็นต่างและการดำเนินการทางกฎหมายต่าง ๆ เข้าใส่ฝ่ายค้านทางการเมืองของตน
- ที่มา: วีโอเอ