เมื่อเร็วๆ นี้ที่กัมพูชา มีการจัดงาน Digital Cambodia 2019 ซึ่งมีการจัดแสดงและให้ข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ๆ
สิ่งหนึ่งที่มีการพูดถึงอย่างมากในงานนี้ คือเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 5G ที่มีบริษัทจีน หัวเหว่ย เป็นผู้ให้บริการหลัก ท่ามกลางความขัดแย้งกับรัฐบาลสหรัฐฯ ในประเด็นเรื่องความมั่นคง
ปัจจุบัน สหรัฐฯ และจีน กำลังแข่งขันกันในระดับโลก เพื่อให้ได้เป็นผู้กำหนดมาตรฐานใหม่เกี่ยวกับการให้บริการเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 5G ที่มีความเร็วมากกว่าเครือข่าย 4G ที่ใช้กันอยู่ในขณะนี้ ถึง 100 เท่า
เชื่อว่า ผู้ที่ชนะในเกมนี้นอกจากจะครองตลาดเครือข่าย 5G แล้ว ยังสามารถสานต่อยุทธศาสตร์ด้านอินเทอร์เน็ตไปถึงเครือข่าย 6G ในอนาคตได้ด้วย
ที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐฯ พยายามใช้มาตรการขัดขวางบริษัทเทคโนโลยี หัวเหว่ย (Huawei) ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับรัฐบาลปักกิ่ง เพื่อไม่ให้สามารถเข้าไปวางระบบรองรับเครือข่าย 5G ในสหรัฐฯ โดยอ้างเหตุผลด้านภัยคุกคามต่อความมั่นคง
นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังพยายามชักชวนประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ไม่ให้ใช้อุปกรณ์หัวเว่ยในการวางเครือข่ายโทรคมนาคมความเร็วสูง 5G โดยเตือนว่า เครือข่าย 5G ของหัวเหว่ย อาจเป็นการเปิดประตูให้จีนสามารถสอดแนมด้านความมั่นคงในประเทศที่เปิดรับเครือข่ายนี้
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนความพยายามของรัฐบาลอเมริกันจะไม่ได้ผลนัก เพราะหลายประเทศในยุโรปและเอเชีย ได้เริ่มตกลงที่จะทำความร่วมมือกับหัวเหว่ย เพื่อสร้างเครือข่ายรองรับอินเทอร์เน็ต 5G ในประเทศเหล่านั้นแล้ว ซึ่งรวมถึง อิตาลี เยอรมนี ฝรั่งเศส และไทย
คุณวิลเลียม คาร์เตอร์ รอง ผอ.โครงการนโยบายเทคโนโลยี ที่ Center for Strategic and International Studies (CSIS) กล่าวว่า ประเทศใดก็ตามที่ยอมทำธุรกิจกับหัวเหว่ย ต้องยอมรับความเสี่ยงที่จะตามมา รวมถึงอิทธิพลของรัฐบาลจีน และคำถามก็คือ คุ้มไหมกับกับความได้เปรียบด้านราคา ด้านเงินทุน หรือบริการที่จะได้รับจากการทำธุรกิจกับหัวเหว่ย
สำหรับกัมพูชา ดูเหมือนความต้องการเครือข่าย 5G กำลังมีมากขึ้นเรื่อยๆ ในทิศทางเดียวกับการขยายตัวของเศรษฐกิจและชนชั้นกลาง
คาดว่าปัจจุบัน มีชาวกัมพูชาราว 13 ล้าน 6 แสนคนที่ใช้อินเทอร์เน็ต คิดเป็น 82% ของประชากรทั้งประเทศ ในจำนวนนี้ 7 ล้านคนใช้สื่อสังคมออนไลน์ Facebook และมีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือราว 19 ล้านคน ตามรายงานของรัฐบาลกัมพูชา
คุณโธมัส ฮุนด์ท ซีอีโอของบริษัท Smart Axiata หนึ่งในผู้ให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคมในกัมพูชา กล่าวว่า เวลานี้ทางบริษัทกำลังเตรียมเปิดตัวเครือข่าย 5G ในกัมพูชาในปีนี้ เพื่อรองรับความต้องการบริโภคข้อมูลของประชาชนที่กลายเป็นความจำเป็นเร่งด่วน เช่นเดียวกับคุณเอียน วัตสัน ซีอีโอของบริษัท ICellcard ที่บอกว่าเตรียมเปิดตัวเครือข่าย 5G ในช่วงกลางปีนี้เช่นกัน
ด้านเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงการสื่อสารและโทรคมนาคมกัมพูชา ระบุว่า รัฐบาลยังมิได้ตัดสินใจว่าบริษัทใดที่จะชนะประมูลได้เป็นผู้วางโครงสร้างพื้นฐานสำหรับเครือข่าย 5G ในกัมพูชา แต่ทั้งบริษัท Huawei และบริษัทอื่นๆ ของจีน ก็ยังอยู่ในการพิจารณาเช่นกัน
และยืนยันว่า กัมพูชาไม่กลัวความเสี่ยงด้านความมั่นคงที่จะตามมา เพราะเชื่อในระบบการป้องกันเครือข่ายออนไลน์ของตนเอง
อย่างไรก็ตาม คุณง้วน โสมาลี นักวิเคราะห์ด้านกฎหมายเทคโนโลยีชาวกัมพูชา กล่าวว่า ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ในกัมพูชานั้น มักไม่ค่อยนึกถึงประเด็นเรื่องความเป็นส่วนตัวหรือการถูกลอบใช้ข้อมูลส่วนบุคคลมากนัก เมื่อเทียบกับผู้ใช้ในสหรัฐฯ หรือยุโรป เช่นเดียวกับผู้ใช้อินเทอร์เน็ตชาวจีนมีมักจะห่วงเรื่องรายได้และโอกาสทางธุรกิจ มากกว่าการปกป้องความเป็นส่วนตัวในโลกออนไลน์เช่นกัน
(ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียงรายงานจากผู้สื่อข่าว Sun Narin/พนมเปญ)