เมื่อกลางสัปดาห์ที่แล้ว ผลสำรวจความเห็นประชาชนอังกฤษซึ่งจัดทำโดยบริษัท ComRes แสดงเห็นว่า ฝ่ายที่ต้องการให้อังกฤษออกจากสหภาพยุโรปหรือ Brexit กำลังได้รับการสนับสนุนมากขึ้นเรื่อยๆ จนเกือบมีคะแนนนิยมสูสีกับฝ่ายที่ต้องการให้อังกฤษอยู่กับสหภาพยุโรปต่อไป คือห่างกันแค่ 1%
แต่หลังจากนั้นไม่กี่วัน ดูเหมือนฝ่ายที่ต้องการให้อังกฤษเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพยุโรปกำลังมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ซึ่งนักวิเคราะห์เชื่อว่า สาเหตุส่วนหนึ่งอาจมาจากเหตุการณ์ฆาตกรรม สส.หญิง Jo Cox ผู้สนับสนุนให้อังกฤษอยู่กับสหภาพยุโรปต่อไป โดยผู้ต้องสงสัยคือ นาย Thomas Mair นั้น ถูกระบุว่าเป็นสมาชิกของกลุ่มประชากรผิวขาวแนวคิดสุดโต่ง ผู้สนับสนุนให้อังกฤษแยกตัวออกมาจาก EU
คุณ Andrew Hawkins จากบริษัทสำรวจ ComRes ในกรุงลอนดอน ชี้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าว กระตุ้นให้ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงซึ่งยังโลเลหรือยังไม่ตัดสินใจเลือกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เริ่มตัดสินใจได้ ส่งผลให้ตัวเลขผู้สนับสนุนให้อังกฤษอยู่ในสหภาพยุโรปต่อไป เพิ่มขึ้นมากในกลุ่มคนเหล่านี้
คุณ Hawkins เชื่อว่าคนจำนวนมากต้องการมีส่วนร่วมในการแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และแปรเปลี่ยนไปเป็นกระแสการสนับสนุนในสิ่งที่ สส. Jo Cox เชื่อ นั่นคืออังกฤษควรอยู่ในสหภาพยุโรปต่อไป
นาย Thomas Mair ปรากฏตัวต่อศาลเป็นครั้งแรกเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา เขาปฏิเสธที่จะกล่าวชื่อจริงของตน แต่เรียกชื่อตนเองว่า “เป็นผู้นำความตายสู่คนทรยศ และนำเสรีภาพสู่อังกฤษ” โดยนาย Mair มีประวัติด้านอาการป่วยทางจิตมาก่อนด้วย
ทั้งฝ่ายที่สนับสนุนและต่อต้าน Brexit หยุดการรณรงค์เป็นเวลา 3 วันหลังเหตุการณ์ฆาตกรรม สส. Jo Cox และกลับมาหาเสียงใหม่ในวันอาทิตย์ด้วยท่าทีและน้ำเสียงที่ดุเดือดน้อยลง
ประเด็นเรื่องผู้อพยพและผู้ลี้ภัยยังคงเป็นประเด็นใหญ่ต่อการตัดสินใจของประชาชนเกี่ยวกับอนาคตของอังกฤษ โดยผู้ที่อยากให้อังกฤษออกจากสหภาพยุโรปรู้สึกไม่พอใจที่มีคนต่างชาติจำนวนมากเข้ามาอาศัยอยู่ในอังกฤษ ทั้งที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย ความไม่พอใจดังกล่าวยิ่งลุกลามขึ้นเมื่อเกิดวิกฤติการณ์ผู้อพยพทั่วยุโรปเมื่อปีที่แล้ว ต่อเนื่องมาจนถึงตอนนี้
กลุ่มที่สนับสนุนให้อังกฤษแยกตัว ส่วนใหญ่ประกอบด้วยประชากรอายุมากกว่า ซึ่งกังวลต่อขอบเขตอำนาจและการทำงานของสหภาพยุโรป รวมทั้งกลุ่มชนชั้นแรงงานที่มองว่า ผู้อพยพหรือแรงงานจากประเทศอื่นในสหภาพยุโรป เช่น โปแลนด์ ทยอยเข้ามาแย่งงานพวกตน
ความกังวลดังกล่าวยิ่งถูกขับเน้นโดยกลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้านผู้อพยพ ซึ่งนำโดย นาย Nigel Farage นักการเมืองแนวทางขวาจัด และกลุ่มสนับสนุน Brexit ซึ่งได้เผยแพร่โปสเตอร์ภาพผู้อพยพตามแนวพรมแดนยุโรปพร้อมข้อความว่า “จุดแตกหัก” ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากที่ สส. Jo Cox ถูกสังหาร
บรรดานักวิจารณ์ต่างออกมาประณามโปสเตอร์ดังกล่าวว่า เป็นการโฆษณาชวนเชื่อในลักษณะต่อต้านคนต่างเชื้อชาติ เหมือนกับกองทัพนาซีเยอรมันเคยใช้ต่อต้านชาวยิวเมื่อช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
ขณะที่นักการเมืองแนวอนุรักษ์นิยมบางคน เช่น คุณ Sayeeda Warsi อดีตหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยมของอังกฤษ ระบุว่าโปสเตอร์ที่ว่านั้นได้ทำให้เธอเปลี่ยนแนวคิด หันมาสนับสนุนให้อังกฤษอยู่กับสหภาพยุโรปต่อไป ซึ่งเป็นความเห็นในทำนองเดียวกับผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งหลายคน ในการสำรวจของ ComRes ครั้งล่าสุด
การลงประชามติว่าอังกฤษจะอยู่กับสหภาพยุโรปต่อไปหรือไม่ จะมีขึ้นวันพฤหัสบดีที่ 23 มิถุนายนนี้
(ผู้สื่อข่าว Luis Ramirez รายงานจากกรุงลอนดอน / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียงเสนอ)