เจ้าหน้าที่สหภาพยุโรป หรือ EU และสมาชิกรัฐสภายุโรป มีคำเตือนอังกฤษว่า ถ้าอังกฤษตัดสินใจออกจากสหภาพยุโรป การเจรจาการค้าเสรีระหว่างอังกฤษกับ EU หลังจากนั้น จะไม่สำเร็จได้ง่ายๆ ซึ่งนักวิเคราะห์เห็นว่า คำเตือนดังกล่าวเป็นสัญญาณเตือนสมาชิก EU อื่นๆ ที่อาจอยากจะออกจาก EU ด้วย
EU เป็นคู่ค้าใหญ่ที่สุดของอังกฤษ แต่ในช่วงหลายวันมานี้ ผลการสำรวจทัศนคติของชาวอังกฤษแสดงให้เห็นว่า ฝ่ายที่ต้องการให้ออกจาก EU มีคะแนนนิยมนำฝ่ายที่อยากให้อยู่มากถึง 6%
ท่าทีของเจ้าหน้าที่ EU ต่ออังกฤษในช่วงสองสามสัปดาห์มานี้ก็เปลี่ยนไปด้วย จากที่ค่อนข้างสุขุมระมัดระวังตามคำขอร้องของนายกรัฐมนตรี David Cameron ของอังกฤษ มาเป็นความเหนื่อยหน่ายและแข็งกร้าวขึ้น
ในที่ประชุมแถลงข่าวเมื่อเร็วๆนี้ เจ้าหน้าที่ของ EU กล่าวว่า ถ้าอังกฤษออกจาก EU อังกฤษจะเป็นฝ่ายประสบความสูญเสียมากกว่า EU และเตือนว่า หลังจากนั้นถ้าอังกฤษต้องการจะเจรจาทำข้อตกลงการค้าเสรีแบบที่ EU ทำไว้กับนอร์เวย์และสวิสเซอร์แลนด์ ก็จะทำไม่ได้ง่ายๆ
นาย Jean-Claude Juncker ประธานคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปกล่าวว่า ถ้าอังกฤษออกจาก EU จะถือว่าอังกฤษเป็นเสมือนทหารหนีทัพ
กรรมาธิการคนหนึ่งของ EU บอกกับผู้สื่อข่าว VOA ว่า อังกฤษไม่เคยเต็มใจที่จะเป็นสมาชิกของ EU และนับวันก็มีพฤติกรรมที่ทำให้เกิดความยุ่งยากมากขึ้นทุกที เพราะฉะนั้นอาจถึงเวลาที่อังกฤษควรจะออกไปแล้วก็ได้
แต่สมาชิกรัฐสภาสหภาพยุโรปจากประเทศโปแลนด์ Saryusz Wolski ให้ความเห็นว่า EU อาจจะด้อยลงทางเศรษฐกิจ ถ้าอังกฤษออกจาก EU และกล่าวแสดงความเสียดายว่า ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ก็จะขาดคนกลางที่สำคัญระหว่างฝรั่งเศสกับเยอรมนี
แต่พร้อมๆ กับที่มีคะแนนนิยมสนับสนุนการออกจาก EU เพิ่มขึ้น ค่าเงินปอนด์ของอังกฤษตกลงอย่างมาก และรายงานข่าวกล่าวว่า ส่งผลทำให้มูลค่าของบริษัทชั้นนำ 100 แห่งของอังกฤษลดลง 140,000 ล้านปอนด์ในช่วงสี่วันที่ผ่านมาของการค้าหุ้น
44% ของการส่งออกของอังกฤษไปที่ EU และเกือบครึ่งหนึ่งของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในอังกฤษ มาจากยุโรป
ในขณะที่นอร์เวย์และสวิสเซอร์แลนด์ต่างมีข้อตกลงการค้าเสรีกับ EU ทั้งสองประเทศต้องยอมจ่ายเงินจำนวนหนึ่งให้กับงบประมาณของ EU และอนุญาตให้พลเมืองของ EU เดินทางเข้าประเทศได้อย่างเสรีด้วย
คณะกรรมาธิการ EU คาดว่า อังกฤษจะขอให้ EU ยกเว้นทั้งสองข้อนั้นให้กับตน แต่เจ้าหน้าที่ของคณะกรรมาธิการชุดนี้กล่าวว่า ไม่มีทางที่จะยอมตามที่อังกฤษจะขอ
นักวิเคราะห์ของนิตยสาร Economist ให้เหตุผลว่า ถ้า EU ยอม ก็จะเป็นการส่งเสริมฝ่ายที่อยากให้ออก และทำให้ฝ่ายที่อยู่ต่อท้อแท้ใจ และว่าผลกระทบจากการที่อังกฤษออกจาก EU จะกว้างไกลและยืดเยื้อ
เฉพาะกระบวนการทางกฎหมายอย่างเดียวจะต้องใช้เวลาอย่างน้อยสองปี ซึ่งฝ่ายที่สนับสนุนให้ออก หวังว่าจะใช้เวลาช่วงนี้เจรจาทำข้อตกลงการค้าเสรีกันได้ อังกฤษจะได้ไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าสำหรับสินค้าที่ส่งไป EU ซึ่งสูงมาก
แต่ George Irwin นักเศรษฐศาสตร์ของ Global Counsel บริษัทที่ปรึกษาเรื่องความเสี่ยงทางการเมือง ให้ความเห็นว่า การออกจาก EU และการทำข้อตกลงกันใหม่อาจใช้เวลานานถึง 10 ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษกับ EU เต็มไปด้วยปัญหา