ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ไบเดนเปิดตัว 'กรอบเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก' - ไทยเข้าร่วมด้วย    


Japanese Prime Minister Fumio Kishida, left, U.S. President Joe Biden and Indian Prime Minister Narendra Modi pose for photos as they arrive at the Indo-Pacific Economic Framework for Prosperity launch event at the Izumi Garden Gallery, May 23, 2022, in Tokyo.
Japanese Prime Minister Fumio Kishida, left, U.S. President Joe Biden and Indian Prime Minister Narendra Modi pose for photos as they arrive at the Indo-Pacific Economic Framework for Prosperity launch event at the Izumi Garden Gallery, May 23, 2022, in Tokyo.

ในวันจันทร์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน ประกาศเปิดตัว กรอบเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework - IPEF) ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อต้านทานอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีนในภูมิภาคนี้ และขณะนี้มีมากกว่า 10 ประเทศ แสดงความประสงค์เข้าร่วม รวมทั้งประเทศไทย

ปธน.ไบเดน กล่าวในพิธีเปิดตัว IPEF ที่กรุงโตเกียวว่า "อนาคตทางเศรษฐกิจของศตวรรษที่ 21 จะถูกเขียนโดยภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก" และว่า "เรากำลังเขียนกฎเกณฑ์ขึ้นมาใหม่"

ผู้นำสหรัฐฯ ได้ร่วมหารือผ่านวิดีโอกับบรรดาผู้นำประเทศที่จะเข้าร่วมในกรอบเศรษฐกิจนี้ ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไน อินเดีย อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม และไทย

IPEF ถูกมองว่า เป็นก้าวสำคัญในการสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจในแถบอินโด-แปซิฟิกอีกครั้งโดยมีสหรัฐฯ เป็นผู้นำ หลังจากที่รัฐบาลอเมริกันสมัยประธานาธิบดีทรัมป์ ถอนสหรัฐฯ ออกจากการเป็นสมาชิกของข้อตกลงการค้าเสรี Trans-Pacific Partnership (TPP) เมื่อปีค.ศ. 2017 ที่ต่อมากลายเป็นข้อตกลง CPTPP

เจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ กล่าวว่า ประเทศที่เข้าร่วมใน IPEF มีมูลค่าจีดีพีรวมกันราว 40% ของจีดีพีโลก และว่า "กรอบเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก คือส่วนหนึ่งของความพยายามของประธานาธิบดีไบเดนในการผลักดันให้ครอบครัวและแรงงานอเมริกันเป็นศูนย์กลางของนโยบายต่างประเทศและเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ควบคู่ไปกับการกระชับความสัมพันธ์กับพันธมิตรและประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ"

ทั้งนี้ กรอบเศรษฐกิจ IPEF ตั้งอยู่บน "เสาหลัก" 4 ประการ คือ เศรษฐกิจที่เชื่อมโยงถึงกัน, เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวเร็ว, เศรษฐกิจสะอาด และเศรษฐกิจที่ยุติธรรม ซึ่งประเทศที่เข้าร่วมสามารถเลือกได้ว่าจะเข้าร่วมในส่วนของเสาหลักไหน โดยถูกออกแบบมาให้มี "ความยืดหยุ่น" และ "ความสร้างสรรค์" เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประเทศต่าง ๆ ได้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดมากนักเกี่ยวกับกรอบความร่วมมือนี้ นอกจากรายงานสรุปข้อเท็จจริงที่เปิดเผยโดยทำเนียบขาว ซึ่งทางเจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐฯ กล่าวว่าจะมีการเผยข้อมูลรายละเอียดอื่น ๆ ออกมามากขึ้นเมื่อมีการเจรจาในขั้นต่อ ๆ ไป

ทำไมไต้หวันไม่เข้าร่วม?

จุดที่น่าสังเกตคือ ไม่มีชื่อไต้หวันเข้าร่วมในฐานะประเทศสมาชิกลุ่มแรกของ IPEF แม้ว่าที่ผ่านมา ไต้หวันแสดงความสนใจเข้าร่วมและได้รับเสียงสนับสนุนจากคณะผู้แทนในวุฒิสภาไต้หวัน 52 คนแล้วก็ตาม

นักวิเคราะห์ชี้ว่า เอกสารการเปิดตัว IPEF ระบุไว้ค่อนข้างชัดเจนว่า มีความเสี่ยงจากภัยคุกคามจากจีน ซึ่งหมายความว่าหากไต้หวันถูกรวมไว้ในรายชื่อประเทศที่เข้าร่วม จะเป็นเรื่องยากที่จะรวมกลุ่มก้อนของหลายประเทศที่สนใจเข้าร่วมในกรอบเศรษฐกิจนี้ เนื่องจากประเทศเหล่านั้นต่างมีจีนเป็นคู่ค้าสำคัญ

ด้านผู้แทนการค้าสหรัฐฯ แคเธอรีน ไท กล่าวว่า กำลังหารือกับผู้แทนการค้าไต้หวันเรื่องการทำข้อตกลงการค้าทวิภาคีระหว่างไต้หวันกับสหรัฐฯ แทน

ขณะเดียวกัน รัฐมนตรีต่างประเทศจีน หวัง อี้ กล่าวไว้ก่อนการเปิดตัว IPEF ว่า กรอบเศรษฐกิจนี้จะไม่ประสบความสำเร็จ

เสียงวิจารณ์เรื่องกำแพงภาษี

ภายใต้กรอบความร่วมมือนี้จะไม่มีการลดภาษีหรือเปิดเสรีให้สินค้าจากต่างประเทศเช่นเดียวกับข้อตกลงการค้าเสรีฉบับก่อน ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเทศที่เข้าร่วมต้องการ ทำให้เกิดเสียงวิจารณ์และคำถามถึงความสำเร็จของ IPEF เนื่องจากไม่มีสิ่งดึงดูดใจให้เข้าร่วมซึ่งต่างจากข้อตกลงการค้าเสรี Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership (CPTPP) และ Regional Comprehensive Economic Partnership (RCEP)

เจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ กล่าวกับวีโอเอว่า "กรอบเศรษฐกิจนี้ไม่ใช่ข้อตกลงการค้าเสรี ซึ่งนั่นคือข้อดี เพราะเป็นการออกแบบมาสำหรับการเจรจาการค้ายุคใหม่ เพื่อรับมือความท้าทายในปัจจุบัน"

ขณะที่ เจค คอลวิน ประธานสภาการค้าระหว่างประเทศแห่งชาติ (National Foreign Trade Council) กล่าวกับวีโอเอว่า แม้ IPEF จะไม่ใช่ข้อตกลงการค้าเสรี แต่ประเทศที่เข้าร่วมก็สามารถสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้เช่นกัน

คอลวินกล่าวว่า "การเจรจาการค้าผ่าน IPEF คือการเสนอโอกาสในการสร้างแนวทางใหม่สู่เศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งแตกต่างจากแนวทางที่ประเทศอย่างจีนและรัสเซียใช้อยู่" และแสดงความหวังว่าจะได้เห็นการมีส่วนร่วมในการจัดการห่วงโซ่อุปทานสินค้าโลก ซึ่งช่วยแก้ปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในแถบอินโด-แปซิฟิกในขณะนี้ได้

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ประเมินว่า อินโด-แปซิฟิก ซึ่งมีประชากรรวมกันราว 60% ของประชากรโลก จะกลายเป็นภูมิภาคที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจมากที่สุดในโลกในช่วง 30 ปีข้างหน้า และทำเนียบขาวชี้ว่า ปริมาณการลงทุนโดยตรงของสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้เพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา อยู่ที่ระดับมากกว่า 969,000 ล้านดอลลาร์เมื่อปีค.ศ. 2020

  • ที่มา: วีโอเอ
XS
SM
MD
LG