ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ออสเตรเลียขอคำอธิบายจากจีน หลังสื่อเผยจีนคว่ำบาตรถ่านหินออสเตรเลีย


FILE - An empty coal train sits on the tracks at the Port of Brisbane, Jan. 15, 2011.
FILE - An empty coal train sits on the tracks at the Port of Brisbane, Jan. 15, 2011.

ทางการออสเตรเลียเรียกร้องให้จีนอธิบายรายงานที่ปรากฏอยู่ในสื่อของทางการจีนที่ระบุว่าจีนได้ใช้มาตรการคว่ำบาตรถ่านหินนำเข้าจากออสเตรเลียแล้ว ซึ่งอาจส่งผลให้ออสเตรเลียขาดรายได้จากการส่งออกมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ และทำให้รอยร้าวทางการค้าของสองประเทศนี้ยิ่งมากขึ้น

การใช้มาตรการขึ้นภาษีและจำกัดการนำเข้าส่งออกสินค้าระหว่างจีนกับออสเตรเลีย เกิดขึ้นพร้อมกับความไม่ลงรอยกันทางการเมืองระหว่างสองประเทศ ตั้งแต่ประเด็นเรื่องเทคโนโลยี 5G ไปจนถึงการระบาดของโควิด-19

หนังสือพิมพ์ Global Times ของทางการจีน รายงานว่า นโยบายใหม่ของจีนจะทำให้ออสเตรเลียไม่มีส่วนร่วมในการซื้อขายถ่านหินกับจีน โดยมีจุดประสงค์เพื่อทำให้ราคาถ่านหินในประเทศจีนมีความคงที่มากขึ้น

เมื่อปีที่แล้ว จีนนำเข้าถ่านหินจากออสเตรเลียเป็นมูลค่าราว 10,500 ล้านดอลลาร์ แต่จีนเริ่มระงับการนำเข้าถ่านหินจากออสเตรเลียอย่างไม่เป็นทางการมาตั้งแต่เดือนตุลาคมปีนี้ โดยอ้างเหตุผลเรื่องคุณภาพ

ถึงแม้จะยังไม่มีการประกาศออกมาจากรัฐบาลจีนเรื่องการคว่ำบาตรถ่านหินออสเตรเลีย แต่รัฐมนตรีพาณิชย์ออสเตรเลีย ไซมอน เบอร์มิงแฮม ระบุว่า รู้สึกไม่สบายใจต่อรายงานชิ้นนี้ ซึ่งหากเป็นความจริงจะถือเป็นการเลือกปฏิบัติทางการค้าจากรัฐบาลจีน และขอให้ยุติการกระทำดังกล่าว "พร้อมทั้งปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ด้านการค้าและการตลาดอย่างเคร่งครัด ทั้งในฐานะสมาชิกขององค์การการค้าโลกและภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างกัน"

ความขัดแย้งทางการเมืองของสองประเทศเพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่ปีมานี้ หลังจากที่รัฐบาลออสเตรเลียสั่งห้ามติดตั้งเครือข่ายโทรคมนาคม 5G ของหัวเหว่ยเนื่องจากปัญหาด้านความมั่นคง ไปจนถึงเรื่องที่ออสเตรเลียวิจารณ์จีนว่าล้มเหลวในการควบคุมโควิด-19 ทำให้เกิดการระบาดไปยังประเทศอื่น ๆ และการปราบปรามผู้ประท้วงในฮ่องกง

ที่ผ่านมา จีนคือคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของออสเตรเลีย คิดเป็น 40% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าทั้งหมดของออสเตรเลีย

เมื่อต้นปีนี้ จีนกล่าวหาว่าออสเตรเลียว่าทุ่มตลาดไวน์และธัญพืชในประเทศจีน และอุดหนุนเกษตรกรในออสเตรเลียอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งทางรัฐบาลกรุงแคนเบอร์ร่าเตรียมยื่นเรื่องนี้ให้องค์การการค้าโลกเป็นผู้ตัดสิน

XS
SM
MD
LG