ในวันที่ 2 ของการประชุมสุดยอดนาโต้ในกรุงวอชิงตัน สหรัฐฯ ประกาศแผนเตรียมส่งขีปนาวุธพิสัยไกลของตนไปยังเยอรมนี เพื่อหวังเตรียมการต้านสิ่งที่กลุ่มพันธมิตรทางทหารนี้ระบุว่าเป็น ภัยคุกคามที่เพิ่มขึ้นจากรัสเซียต่อยุโรป ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์
การตัดสินใจนำส่งอาวุธยุทธภัณฑ์ที่ทรงพลังที่สุดของสหรัฐฯ ไปประจำที่ภาคพื้นทวีปยุโรป ถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เมื่อครั้งสงครามเย็น และยังเป็นเหมือนคำเตือนไปยังประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ด้วย
แถลงการณ์ร่วมระหว่างสหรัฐฯ และเยอรมนี ระบุว่า กำลังมีการเตรียม “การนำส่งเป็นกรณี ๆ” เพื่อการติดตั้งระยะยาวของยุทโธปกรณ์ที่มีความสามารถสูงต่าง ๆ เช่น ขีปนาวุธ SM-6 ขีปนาวุธโทมาฮอว์คและอาวุธความเร็วเหนือเสียงที่กำลังพัฒนาอยู่ ในยุโรป
ทั้งนี้ แผนงานเช่นนี้เดิมทีถูกห้ามภายใต้สนธิสัญญากำลังนิวเคลียร์พิสัยกลางที่สหรัฐฯ และสหภาพโซเวียตลงนามไว้ในปี 1987 ก่อนที่ข้อตกลงนี้จะถูกยกเลิกไปในปี 2019
ขณะเดียวกัน นาโต้กำลังหารือการนำส่งอาวุธเพิ่มเติมไปให้ยูเครนใช้เพื่อเสริมสรรพกำลังของกองทัพกรุงเคียฟในการรับมือกับการรุกรานของรัสเซียด้วย
แถลงการณ์ที่ประชุมสุดยอดนาโต้ที่ออกมาในวันพุธระบุว่า กลุ่มพันธมิตรนี้ตั้งใจจะจัดหาความช่วยเหลือทางทหารเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 40,000 ล้านยูโร (ราว 43,280 ล้านดอลลาร์) ให้ยูเครนภายในปีหน้า แต่ก็ไม่ได้มีการพูดถึงการให้คำมั่นในระยะยาวดังที่ เยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการนาโต้ พยายามผลักดัน
นอกจากนั้น เนื้อความในแถลงการณ์นี้ยังมีการใช้ภาษาที่แรงขึ้นเกี่ยวกับประเด็นของจีน โดยระบุว่า กรุงปักกิ่งนั้นเป็น “แนวร่วมที่เด็ดเดี่ยว” ของสงครามรัสเซียในยูเครน และจีนก็ยังคงเป็นความท้าทายทางระบบสำหรับความมั่นคงของภูมิภาคยูโร-แอตแลนติกต่อไป
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน กล่าวในวันพุธด้วยว่า รู้สึกยินดีที่สมาชิกนาโต้ให้คำมั่นที่จะขยายฐานอุตสาหกรรมทางทหารและพัฒนาแผนงานการผลิตด้านกลาโหมในประเทศของตนแล้ว
ทรัมป์ยืนยัน จะไม่ถอนสหรัฐฯ ออกจากนาโต้
อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ระบุระหว่างการให้สัมภาษณ์กับสถานีวิทยุ Fox News Radio ในวันพุธว่า ตนจะไม่ดึงสหรัฐฯ ออกจากการเป็นสมาชิกนาโต้แต่ย้ำความต้องการให้สมาชิกประเทศอื่นควักเงินมากกว่าที่เคย โดยระบุว่า “ผมต้องการให้พวกเขารับผิดชอบค่าใช้จ่ายตัวเอง เรากำลังปกป้องยุโรป พวกเขาใช้ประโยชน์จากเราอย่างร้ายกาจ”
ทรัมป์นั้นเคยบีบให้สมาชิกสภาคองเกรสสังกัดพรรครีพับลิกันยื้อการอนุมัติความช่วยเหลือทางทหารให้กับยูเครน ก่อนจะกลับใจให้ไฟเขียวในเวลาต่อมา
ทั้งนี้ ประเด็นที่ว่า ใครจะเป็นผู้นำสหรัฐฯ หลังการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายนเป็นเรื่องที่ทำให้พันธมิตรนาโต้หลายรายไม่ค่อยสบายใจ
อเล็กซานเดอร์ สตับบ์ ประธานนาโต้ของฟินแลนด์ บอกกับผู้สื่อข่าวว่า ถ้าจะมีเรื่องหนึ่งที่ผมเป็นกังวลเกี่ยวกับสหรัฐฯ ก็เป็นเรื่องการแตกขั้วทางการเมือง”
ความช่วยเหลือชุดใหม่สำหรับยูเครน
เยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการนาโต้ บอกกับผู้สื่อข่าวว่า ตนคาดหวังที่จะเห็นสมาชิกทั้งหลายเห็นชอบต่อการจัดหาความช่วยเหลือ “ที่เป็นกอบเป็นกำ” ให้กับกรุงเคียฟ ในแบบที่จะนำไปสู่การจัดตั้งกองบัญชาการนาโต้แห่งใหม่สำหรับการให้ความช่วยเหลือด้านความมั่นคงและการฝึกอบรมให้กับยูเครน
สโตลเทนเบิร์ก กล่าวว่า จะมีการประกาศแผนสนับสนุนทางการทหารใหม่ ๆ ออกมา ที่จะรวมถึงเรื่องของระบบป้องกันการโจมตีทางอากาศและปรับกองทัพยูเครนให้เป็นไปตามมาตรฐานของนาโต้ด้วย
- ที่มา: รอยเตอร์
กระดานความเห็น