รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคน ได้ออกโรงเตือนอิสราเอลต่อการเข้ายึดครองกาซ่าอีกครั้ง แม้ว่าจะต้องมี “ช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน” หลังสงครามอิสราเอล-ฮามาส ในดินแดนปาเลสไตน์ก็ตาม
ในการแถลงข่าวเมื่อวันพุธ ช่วงการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกลุ่มจี7 ที่กรุงโตเกียว รมต.บลิงเคน ยืนยันอีกครั้งว่าสหรัฐฯ สนับสนุนความพยายามของอิสราเอลในการโค่นล้มกลุ่มฮามาส ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 1,400 ราย และกลุ่มฮามาสลักพาตัวกว่า 200 รายเป็นตัวประกัน ระหว่างการโจมตีอิสราเอสเมื่อเดือนก่อน
แต่รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ได้กล่าวย้ำด้วยว่า “เป็นที่ชัดเจนอยู่แล้วว่าอิสราเอลไม่สามารถเข้ายึดครองกาซ่าได้” และเสริมว่า “ตอนนี้ความจริงที่ว่า ต้องมีช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านเมื่อความขัดแย้งสิ้นสุดลง แต่ก็เป็นสิ่งจำเป็นที่ชาวปาเลสไตน์ต้องเป็นศูนย์กลางในการปกครองในกาซ่าและเวสต์แบงค์เช่นกัน”
ท่าทีของรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ มีขึ้นหลังการสัมภาษณ์เมื่อวันอังคารกับรายการข่าวเอบีซีนิวส์ ที่นายกรัฐมนตรีอิสราเอล เบนจามิน เนทันยาฮู กล่าวว่าอิสราเอลจะต้องมีบทบาทสำคัญด้านความมั่นคงในกาซ่า “อย่างไม่มีกำหนด” เมื่อความขัดแย้งสิ้นสุดลง และย้ำยืนยันว่าจะไม่มีการหยุดยิงจนกว่าตัวประกันที่กลุ่มฮามาสจับไปจะได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระ แต่ได้กล่าวว่า “การพักรบเล็กน้อย” เป็นสิ่งที่เป็นไปได้
ทั้งนี้ ในแถลงการณ์ร่วมเมื่อวันพุธ รัฐมนตรีต่างประเทศในกลุ่มจี7 ต่างเรียกร้องให้มี “การพักรบและระเบียงมนุษยธรรม” เพื่อเปิดทางให้มีการจัดส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการปล่อยตัวประกัน
ในแถลงการณ์ระบุว่า “ทุกฝ่ายต้องเปิดทางให้มีการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่พลเรือนผู้บริสุทธิ์ ทั้งอาหาร น้ำ ความช่วยเหลือด้านการแพทย์ เชื้อเพลิงและที่พักพิง รวมทั้งเปิดทางให้เจ้าหน้าที่ด้านมนุษยธรรมปฏิบัติหน้าที่อย่างไร้อุปสรรค” และว่า “เราขอสนับสนุนการพักรบและระเบียงมนุษยธรรมเพื่ออำนวยความสะดวกด้านความช่วยเหลือจำเป็นเร่งด่วน การเคลื่อนย้ายพลเรือน และการปล่อยตัวประกัน”
ความขัดแย้งตะวันออกกลางปกคลุมเวทีจี7
แม้ว่าการประชุมในกรุงโตเกียวจะขับเคลื่อนด้วยวิกฤตอิสราเอล-ฮามาส ท่ามกลางเสียงเรียกร้องจากนานาชาติในการหยุดยิง แต่ในความเป็นจริง จุดยืนที่แตกต่างของสมาชิกกลุ่มจี7 นั้นยังเป็นประเด็นที่ค้างคาอยู่ โดยเห็นชัดได้จากการที่ฝรั่งเศสออกเสียงในการประชุมยูเอ็นเพื่อสนับสนุนให้มีการออกมติเรียกร้องให้มีการสงบศึกเพื่อจุดประสงค์ด้านมนุษยธรรมเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม แต่สหรัฐฯ คัดค้านเรื่องนี้ ขณะที่ สมาชิกอื่น ๆ งดออกเสียง
ญี่ปุ่นในฐานะเจ้าภาพการประชุมจี7 ก็ไม่ได้แสดงจุดยืนชัดเจนในการสนับสนุนอิสราเอลเท่ากับพันธมิตรอย่างสหรัฐฯ ในทัศนะของเจฟฟรีย์ เจ. ฮอลล์ อาจารย์จาก Kanda University of International Studies ที่มองว่าญี่ปุ่นต้องรักษาสมดุลสัมพันธ์กับทั้งสหรัฐฯ และชาติอาหรับ และว่า “ไม่น่าเป็นไปได้ที่กลุ่มจี7 จะมีจุดยืนร่วมกันในประเด็นนี้”
นอกจากนี้ แถลงการณ์จากกลุ่มจี7 ยังให้คำมั่นในการสนับสนุนยูเครนต่อการรุกรานของรัสเซีย “ตราบเท่าที่จำเป็น” และประณามการซื้อขายอาวุธระหว่างรัสเซียและเกาหลีเหนือ รวมทั้งวิจารณ์การกระทำของจีนในหลายด้าน
หลังการเวทีจี7 รมต.บลิงเคน เดินทางต่อไปยังกรุงโซล เพื่อพบกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเกาหลีใต้ โดยประเด็นความร่วมมือด้านการทหารระหว่างรัสเซียและเกาหลีเหนือจะเป็นประเด็นหารือหลักในการเยือนกรุงโซลครั้งนี้
- ที่มา: วีโอเอ
กระดานความเห็น