แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวว่า การประชุมของรัฐมนตรีต่างประเทศกลุ่มจี7 ในสัปดาห์นี้เป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่ประเทศสมาชิกทั้งหมดจะร่วมกันหารือกรณีสงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส รวมทั้งวิกฤติด้านมนุษยธรรมในฉนวนกาซ่า
การประชุมกลุ่มจี7 ที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพนั้นเปิดฉากขึ้นในวันอังคารและจะดำเนินต่อไปจนถึงวันพุธที่กรุงโตเกียว ท่ามกลางเสียงเรียกร้องให้มีการหยุดพักรบในสงครามกาซ่าเพื่อจุดประสงค์ด้านนุษยธรรม
โดยในวันอังคาร บลิงเคนเข้าร่วมประชุมระดับทวิภาคีกับนายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะแห่งญี่ปุ่นและรัฐมนตรีต่างประเทศโยโกะ คามิคาวา
ในช่วงต้นของการประชุม รมต.คามิคาวา กล่าวว่า ญี่ปุ่น “ขอประณามอย่างไม่อ้อมค้อม” ต่อ “การโจมตีแบบก่อการร้ายโดยฮามาสและชาวปาเลสไตน์ที่ติดอาวุธซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม และหวังว่าจะมีการปล่อยตัวประกันที่ฮามาสควบคุมไว้ ซึ่งรวมถึงพลเรือนชาวสหรัฐฯ ในเร็ววันนี้” และว่า “เรายินดีที่เห็นความพยายามทางการทูตของสหรัฐฯ ต่อสถานการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นในอิสราเอลและปาเลสไตน์” แปลว่า “ เราขอสนับสนุนสหรัฐฯ อย่างเต็มที่”
รัฐมนตรีบลิงเคนกล่าวกับคามิคาวาและเจ้าหน้าที่อาวุโสอื่น ๆ ของญี่ปุ่นว่า” นี่คือช่วงเวลาที่มีความสำคัญมากเช่นกันสำหรับกลุ่มจี7 ที่จะมาร่วมกันเผชิญหน้ากับวิกฤตครั้งนี้และร่วมหารือเกี่ยวกับสิ่งที่เราจะทำต่อไปในทิศทางเดียวกันอย่างชัดเจน”
รายงานข่าวระบุว่า ญี่ปุ่นได้เรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องโดยตรงทั้งหมดดำเนินการต่าง ๆ ภายใต้บริบทของกฎหมายระหว่างประเทศและให้ร่วมกันลดระดับความขัดแย้ง พร้อมสนับสนุนให้มีการปล่อยตัวประกันทั้งหมดด้วย โดยรัฐบาลกรุงโตเกียวได้จัดสรรงบประมาณเพื่อช่วยบรรเทาปัญหาด้านมนุษยธรรมที่รุนแรงขึ้นในฉนวนกาซ่าแล้ว
อย่างไรก็ดี สำนักข่าวเอพีระบุว่า การที่กลุ่มจี7 จะเดินหน้ารับมือกับวิกฤตอิสราเอล-กาซ่าที่ยกระดับรุนแรงขึ้นและทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายพันคนแล้ว ทั้งยังส่งผลกระทบไปยังภูมิภาคใกล้เคียงอยู่ด้วยนั้น ดูจะเป็นเรื่องยากกว่าเมื่อเทียบกับการแสดงจุดยืนต่อกรณีสงครามในยูเครน
นับตั้งแต่เกิดสงครามอิสราเอล-ฮามาสขึ้นมา กลุ่มจี7 ออกแถลงการณ์ร่วมเพียงฉบับเดียว โดยมีเนื้อความเพียงไม่กี่ประโยค ขณะที่ มีสมาชิกกลุ่มบางประเทศได้ออกแถลงการณ์ของตนออกมาเช่นกัน
รอยเตอร์ระบุว่า ในการประชุมที่กรุงโตเกียวนี้กลุ่มจี7 มีแผนที่จะถกประเด็นเกี่ยวกับความจำเป็นของการหยุดพักรบเพื่อเปิดทางให้มีการนำส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเข้าไปยังกาซ่า
แต่ในความเป็นจริง จุดยืนที่แตกต่างของสมาชิกกลุ่มจี7 นั้นยังเป็นประเด็นที่ค้างคาอยู่ โดยเห็นชัดได้จากการที่ฝรั่งเศสออกเสียงในการประชุมยูเอ็นเพื่อสนับสนุนให้มีการออกมติเรียกร้องให้มีการสงบศึกเพื่อจุดประสงค์ด้านมนุษยธรรมเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม แต่สหรัฐฯ คัดค้านเรื่องนี้ ขณะที่ สมาชิกอื่น ๆ งดออกเสียง
จี7และสงครามยูเครน
ญี่ปุ่นระบุในวันอังคารว่า กลุ่มจี 7 ที่รวมความถึง อังกฤษ แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลีและสหรัฐฯ รวมทั้งสไภาพยุโรป จะยังคงเดินหน้าสนับสนุนยูเครนในการทำสงครามกับรัสเซียต่อไป โดยประเด็นนี้จะไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ที่รุนแรงขึ้นในตะวันออกกลาง
ในประเด็นนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่น โยโกะ คามิคาวา กล่าวระหว่างการแถลงข่าวว่า “พันธกรณีของเราในการเดินหน้าทำการลงโทษทางเศรษฐกิจอย่างเข้มข้นต่อรัสเซียและการให้การสนับสนุนอย่างเข้มแข็งต่อยูเครนจะไม่มีทางลดละ แม้ว่า สถานการณ์ในตะวันออกกลางจะยกระดับรุนแรงขึ้น”
และในการประชุมร่วมกับรัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่นใน วันอังคาร รัฐมนตรีบลิงเคนเน้นย้ำว่า “แรงสนับสนุนที่จะคงอยู่ต่อไป” ของกลุ่มจี7 ให้กับยูเครน จะเป็นวาระสำคัญหลักในการหารือเช่นกัน
รายงานข่าวระบุว่า ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกลุ่มจี7 มีกำหนดที่จะทำการหารือแบบออนไลน์กับ ดมีโทร คูเลบา รัฐมนตรีต่างประเทศยูเครนในวันพุธด้วย
- ข้อมูลบางส่วนมาจากรอยเตอร์
กระดานความเห็น