ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ผู้นำอังกฤษยอมรับไม่อาจคาดหวังผลสำเร็จจากการประชุม COP26 ได้แน่นอน


Climate COP26 summit
Climate COP26 summit
Success at COP26
please wait

No media source currently available

0:00 0:04:40 0:00

ในช่วงหลายเดือนก่อนการประชุม COP26 ที่สกอตแลนด์ นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสันของอังกฤษในฐานะประเทศเจ้าภาพได้แสดงความมั่นใจและคาดหวังในแง่ดีเกี่ยวกับโอกาสการทำข้อตกลงจากการประชุมระดับโลกครั้งนี้เพื่อควบคุมอุณหภูมิของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นมากและเร็วเกินไป

แต่เมื่อวันเสาร์ ระหว่างการประชุม G-20 ที่กรุงโรม ผู้นำของอังกฤษยอมรับว่าโอกาสความสำเร็จของเรื่องดังกล่าวมีไม่สูงกว่า 50 % และผู้เชี่ยวชาญรวมทั้งนักเศรษฐศาสตร์ก็เตือนว่าการจะบรรลุเป้าหมายของการปล่อยก๊าชคาร์บอนเพื่อลดความเสียหายจากสภาพภูมิอากาศแปรปรวนได้นี้จะต้องอาศัยความตั้งใจจริงของประเทศต่างๆ และการยอมรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะสั้นซึ่งอาจไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำ

ในการกล่าวเปิดประชุม COP26 เมื่อวันจันทร์ นายกรัฐมนตรีของอังกฤษเตือนผู้นำจากเกือบ 200 ประเทศทั่วโลกว่ามนุษยชาติกำลังจะหมดเวลาที่จะแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศแปรปรวน พร้อมทั้งเตือนว่าถ้าเราไม่เริ่มทำอะไรอย่างจริงจังในวันนี้แล้วก็จะสายเกินไปสำหรับคนรุ่นลูกรุ่นหลานที่จะทำในวันพรุ่งนี้

ส่วน Liz Truss รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอังกฤษก็เตือนว่าไม่มีหลักประกันใดๆ ว่าจะเกิดผลลัพธ์ตามที่ต้องการจากบรรดาผู้นำโลกซึ่งเข้าร่วมประชุม และว่าผลของการประชุมครั้งนี้ไม่สามารถคาดเดาได้และยังมีความไม่แน่นอน อย่างไรก็ตามจะมีการเจรจาต่อรองอย่างเคร่งเครียดและการประชุมดังกล่าวก็เป็นโอกาสสำคัญที่จะทำให้บรรดาผู้นำเหล่านี้ต้องแสดงความรับผิดชอบด้วย

ตามข้อตกลงกรุงปารีสนั้นประเทศต่างๆ ได้เห็นพ้องต้องกันถึงความจำเป็นที่จะต้องควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เกิน 2 องศาเซลเซียส หรือถ้าเป็นไปได้คือไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียสเหนือระดับอุณหภูมิก่อนยุคอุตสาหกรรมของโลกคือเมื่อราวกว่า 200 ปีที่แล้ว

โดยข้อเสนอนี้อนุญาตให้แต่ละประเทศจัดทำแผนดำเนินงานของตัวเองและนำมาพิจารณาทบทวนทุกๆ ห้าปี อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่รัฐบาลอังกฤษยอมรับว่าการทบทวนแผนดำเนินงานในการประชุม COP26 ปีนี้คงแสดงให้เห็นว่าประเทศต่างๆ ยังทำไม่ได้ตามเป้าหมายและคำมั่นสัญญา

เหตุผลหนึ่งของความกังวลเรื่องนี้ก็คือผู้นำของประเทศซึ่งผลิตก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ของโลกสองประเทศ คือ จีนกับรัสเซีย ไม่ได้เข้าร่วมประชุมด้วย นอกจากนั้นคุณ Anna Aberg นักวิจัยของ Chatham House ในอังกฤษก็ชี้ว่าขอบข่ายของปัญหาท้าทายที่รออยู่และการดำเนินงานที่จะต้องเร่งลงมือทำเพื่อควบคุมอุณหภูมิของโลกนั้นมีขนาดใหญ่โตมหาศาลมาก

โดยคุณ Anna เตือนว่าการที่โลกจะสามารถควบคุมอุณหภูมิไม่ให้เพิ่มสูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสได้นั้นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะต้องลดลงราวครึ่งหนึ่งภายในปี 2030 และโลกจะต้องมีสภาวะเป็นกลางด้านก๊าซคาร์บอนหรือ net-zero emissions ภายในปี 2050 ด้วย ซึ่งการจะบรรลุเป้าหมายที่ว่านี้ได้ก็ต้องอาศัยการดำเนินงานอย่างจริงจังของประเทศต่างๆ อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

นักวิเคราะห์ของ Chatham House ผู้นี้ยังเสริมด้วยว่าแผนดำเนินงานซึ่งประเทศต่างๆ นำเสนอในการประชุมเมื่อปี 2015 นั้นยังไม่เพียงพอที่จะควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกได้ และความสำเร็จของเรื่องนี้ยังต้องอาศัยความสนับสนุนด้านการเงินจากประเทศที่พัฒนาแล้วในรูปเงินช่วยเหลือปีละหนึ่งแสนล้านดอลลาร์แก่ประเทศกำลังพัฒนาเพื่อจำกัดการสร้างก๊าซเรือนกระจกด้วย

อย่างไรก็ตามจนถึงเมื่อปีที่แล้วเรื่องดังกล่าวก็ไม่ได้เป็นไปตามคำมั่นสัญญา นอกจากนั้นบรรดานักวิทยาศาสตร์และนักสิ่งแวดล้อมยังชี้ว่าการควบคุมการปล่อยก๊าซมีเทนก็จำเป็นเพื่อช่วยควบคุมภาวะโลกร้อนเช่นกัน

แต่นอกจากประเด็นด้านวิทยาศาสตร์แล้วนักเศรษฐศาสตร์ก็เตือนด้วยว่าความสำเร็จของการดำเนินงานเพื่อควบคุมอุณหภูมิของโลกนี้ขึ้นอยู่กับภาวะการนำและความพยายามของประเทศที่พัฒนาแล้วรวมทั้งความร่วมมือจากประเทศกำลังพัฒนาด้วย

อย่างไรก็ตามในขณะนี้ประเทศอุตสาหกรรมที่ร่ำรวยกำลังมีปัญหาเศรษฐกิจหลังวิกฤตโควิด-19 ยังขาดแคลนงบประมาณ และอยู่ท่ามกลางวิกฤติด้านพลังงาน ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์บางคน เช่น นาย Liam Halligan ของอังกฤษได้เตือนว่าการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้จะต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมหาศาลซึ่งผู้เสียภาษีและครัวเรือนในกลุ่มประเทศตะวันตกจะเป็นผู้ต้องแบกรับภาระส่วนใหญ่

และคำถามสำคัญขณะนี้ก็คือแผนงานตามคำมั่นสัญญาของประเทศที่พัฒนาแล้วจะทำให้เศรษฐกิจของตนต้องรวนเรหรือไม่ เพราะในที่สุดแล้วผู้กำหนดนโยบายรวมทั้งผู้มีอำนาจตัดสินใจจะต้องเลือกระหว่างทางเลือกที่ยากลำบากสองด้าน คือการทุ่มเงินจำนวนมหาศาลในขณะนี้เพื่อเร่งดำเนินงานอย่างรวดเร็วให้บรรลุเป้าหมาย net-zero carbon emission ภายในปี 2050 หรือจะผัดผ่อนเรื่องนี้และต้องรับผลกระทบที่สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างมากมายในระยะยาวจากภาวะอากาศแปรปวนหากเริ่มทำอย่างล่าช้า หรือไม่ทำอะไรเลย

ที่มา: VOA

XS
SM
MD
LG