ประธานาธิบดีสหรัฐฯนาย โจ ไบเดน ได้แสดงวิสัยทัศน์ถึงการพัฒนาโลกแบบสีเขียว พร้อมผลักดันการวางระบบโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมผ่านโครงการ Build Back Better World (B3W) ในประเทศรายได้น้อยและรายได้ต่ำ บนเวทีการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก (COP 26) ที่เมืองกลาสโกว์ สกอตแลนด์
ผู้นำสหรัฐกล่าวว่า ความร่วมมือจากนานาประเทศที่จะพัฒนาการวางระบบข้างต้นจะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ได้ภายในปี 2050 เขาชี้ด้วยว่าประเทศกำลังพัฒนาต้องการระบบโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพสูง มีความยั่งยืนและสามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและช่วยกระตุ้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบสีเขียวได้
ประธานาธิบดีไบเดนได้เปิดตัวโครงการ B3W บนเวทีการประชุมประเทศกลุ่ม G-7 ที่ประเทศอังกฤษในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยระบุวัตถุประสงค์หลักว่าเป็นการลงทุนแบบโปร่งใสเพื่อช่วยพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งหลายคนมองว่าโครงการข้างต้นเป็นการเปิดศึกแข่งขันกับโครงการ ‘หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง’ ของจีนที่ดำเนินการมาแล้วกว่า 8 ปีในหลายประเทศทั่วโลกอย่างเต็มรูปแบบ
โดยเมื่อปี 2018 อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไมค์ เพนซ์ เคยวิจารณ์โครงการ ‘หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง’ ของจีน ว่าเป็นโครงการที่จะสร้างหนี้ให้กับรัฐบาลของประเทศกำลังพัฒนามากมาย พร้อมยังชี้ถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ปัญหาที่จะเกิดต่อสังคมและการทุจริตภายใต้โครงการริเริ่ม BRI นี้ด้วย
เจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯ ได้ออกเดินทางเยือนประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ เพื่อรับฟังความต้องการและชักชวนให้ประเทศเหล่านั้นเข้าร่วมโครงการ B3W โดยรองที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาตินาย ดาลีฟ สิงห์ เป็นผู้นำคณะเดินทางไปยังประเทศแถบลาตินอเมริกันคือ โคลัมเบีย เอกวาดอร์ และปานามาเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา และในสัปดาห์ที่แล้วก็เพิ่งเดินทางไปยังกานาและเซเนกัลเพื่อหารือเกี่ยวกับโครงการด้วย
การเดินทางเยือนข้างต้นนั้นเป็นการแสดงให้ประเทศกำลังพัฒนาเห็นว่าชาติของตนมีทางเลือกอื่นนอกจากประเทศจีน ยกตัวอย่างเช่นที่การประชุม COP26 แอฟริกาใต้ซึ่งเป็นประเทศที่ผลิตถ่านหินรายใหญ่ของโลกได้ลงนามในสัญญามูลค่า 8 พัน 5 ร้อยล้านดอลลาร์กับสหรัฐฯ สหภาพยุโรปรวมทั้งประเทศอื่นๆ ของยุโรปเพื่อหันมาใช้พลังงานสะอาดแทน
อย่างไรก็ตาม ผู้ประสานงานโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของศูนย์ Wilson Center ที่กรุงวอชิงตันของสหรัฐฯ นาย ลูคัส ไมเยอร์ ได้บอกว่า โครงการ BRI ของจีนยังได้รับความสนใจจากหลายประเทศอยู่ โดยเฉพาะประเทศที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนและมีการทุจริตสูง
นอกจากนี้ แซ็ก คูเปอร์ นักวิเคราะห์อาวุโสที่ American Enterprise Institute ในกรุงวอชิงตันของสหรัฐฯ บอกกับวีโอเอว่า B3W อาจจะไม่สามารถแข่งกัน BRI ได้ เพราะสหรัฐฯ ไม่ทราบว่าประเทศใดจะเข้าร่วมบ้างและในระดับใดและจะใช้เงินทั้งหมดรวมเท่าใดสำหรับ B3W ซ้ำยังไม่มีระยะเวลาของโครงการที่ชัดเจนด้วย ถึงแม้จะมีการวางแผนไว้ว่าสหรัฐฯ จะสามารถประกาศเริ่มโครงการ B3W ได้ในช่วงต้นปีหน้าโดยจะมีการเปิดเผยรายละเอียดบางอย่างสำหรับบางโครงการในขั้นต้น และคาดว่าประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ จะต้องการเงินลงทุนรวมทั้งสิ้นถึง 40 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2035
นอกจากนั้นการตอบรับของนักการเมืองและชาวอเมริกันเองเรื่องการนำเงินจำนวนมากไปลงทุนสำหรับโครงการพัฒนาในประเทศต่างๆ ก็อาจจะอีกหนึ่งอุปสรรคที่รัฐบาลสหรัฐฯ จะต้องเผชิญ เพราะขณะนี้ รัฐบาลสหรัฐฯ เองก็มีโครงการลักษณะเดียวกันสำหรับการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ภายในประเทศซึ่งสมาชิกของพรรคเดโมแครตเองก็ยังมีความเห็นแตกต่างกันทำให้ยังไม่ได้รับความเห็นชอบจากสภาอย่างเต็มที่
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์อีกคนคือ นายโจนาธาน อี. ฮิลล์แมน แห่ง Center for International & Strategic Studies (CSIS) ในกรุงวอชิงตัน บอกว่า สหรัฐฯ อาจจะสู้กับแผนงาน BRI หรือหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีนได้หากมุ่งเน้นให้ความสนใจกับเรื่องสำคัญสี่อย่างที่จีนทำได้ไม่ดีพอ นั่นคือด้านสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เรื่องสุขภาพ ระบบดิจิทัล และความทัดเทียมทางเพศ
ส่วนนักวิเคราะห์คนอื่นก็ชี้ว่าสหรัฐฯ มีโอกาสประสบความสำเร็จในการเพิ่มเงินลงทุนให้ได้มากพอๆ กับเม็ดเงินในแผนงาน BRI ของจีนได้ - โดยขณะนี้ตัวเลขที่คาดไว้อยู่ระหว่างหนึ่งล้านล้านถึงแปดล้านล้านดอลลาร์ - หากสหรัฐฯ อาศัยการระดมทุนจากภาคเอกชนและอาศัยความร่วมมือจากประเทศพันธมิตรอื่นๆ เช่นญี่ปุ่น ซึ่งมีประสบการณ์และมีความชำนาญรวมทั้งมีเครือข่ายอย่างกว้างขวางในฐานะประเทศผู้ลงทุนต่างชาติโดยตรงรายใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย
เจ้าหน้าที่จากทำเนียบขาวกล่าวกับวีโอเอว่า รัฐบาลสหรัฐฯ มีความเห็นเช่นกันว่าหัวใจสำคัญของโครงการ B3W คือการสร้างวิสัยทัศน์ที่น่าดึงดูดใจ มีผลประโยชน์อย่างเห็นได้ชัด รวมทั้งมีการให้แรงกระตุ้นจูงใจในทางปฏิบัติด้วย และสำหรับโครงการ B3W ของสหรัฐฯ นี้ การสร้างความเป็นหุ้นส่วนร่วมมือกันกับประเทศต่างๆ อย่างมีความหมายจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับความสำเร็จของโครงการ