การแถลงนโยบายและผลงานประจำปีครั้งที่ 2 ของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่จัดขึ้นเมื่อคืนวันอังคารตามเวลาในสหรัฐฯ น่าจะเป็นช่วงเวลาที่ผู้นำสหรัฐฯ คนปัจจุบันสามารถนำเสนอความสำเร็จมากมายในช่วงสองปีที่ผ่านมา ตั้งแต่การผ่านกฎหมายออกมาหลายร้อยฉบับ การที่พรรคเดโมแครตยังรักษาเสียงส่วนมากในวุฒิสภาไว้ได้พร้อม ๆ กับกันไม่ให้พรรครีพับลิกันโกยเสียงข้างมากสัดส่วนสูงในสภาล่างได้ ไปจนถึงนโยบายสนับสนุนยูเครนในการรับมือกับการรุกรานของรัสเซีย และการนำพาประเทศผ่านพ้นวิกฤตโควิด
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ประธานาธิบดีคนที่ 46 ของสหรัฐฯ ยังไม่สามารถสลัดข้อกังขาและการวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มที่อยู่ตรงข้ามได้สำเร็จ ตามรายงานของสำนักข่าวเอพี
ผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชนก่อนการแถลงนโยบายและผลงานประจำปี (State of the Union) พบว่า ชาวอเมริกันส่วนใหญ่ไม่ได้รับรู้เกี่ยวกับความสำเร็จใด ๆ ของปธน.ไบเดนเลย และส่วนมากก็ไม่ได้ชื่นชมผลงานใด ๆ ของผู้นำสหรัฐฯ ด้วย ขณะที่ ผู้ที่สนับสนุนหรือเป็นสมาชิกพรรคเดโมแครตยังแสดงความกังขาว่า ปธน.ไบเดน ควรลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 2 หรือไม่ พร้อมแสดงความกังวลเกี่ยวกับสุขภาพของผู้นำคนนี้ด้วย
และทั้งหมดนี้ก็ดูสมเหตุสมผลว่า ค่ำคืนวันอังคารที่ผ่านมาควรจะเป็นช่วงเวลาเดิมพันสำคัญมากสำหรับปธน.ไบเดน ในการใช้เวลาที่หลายคนเชื่อว่า เป็นโอกาสสุดท้ายและดีที่สุดในการแจกแจงว่า ทำไมตนถึงสมควรจะได้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้นำประเทศในสมัยที่ 2 ก่อนจะมีการประกาศการตัดสินใจในเรื่องนี้อย่างเป็นทางการ
ในเวลาชั่วโมงเศษ ๆ ของการพูดถึงนโยบายและความสำเร็จต่าง ๆ นั้น ไบเดน ชี้แจงชัดเจนว่า ตนยังมีภาระหน้าที่ต้องทำอีกมากมายในฐานะประธานาธิบดีสหรัฐฯ และยังพูดกับสมาชิกพรรครีพับลิกันในหอประชุมคองเกรสที่เป็นเสียงข้างมากในสภาหลังการเลือกตั้งกลางเทอมเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่แล้วว่า “ประชาชนส่งสารอันชัดเจนมายังเรา” ว่า ทั้งสองฝ่ายควรหาจุดยืนร่วมกันได้แล้ว และย้ำว่า “เราถูกส่งมาที่นี่เพื่อให้ทำงานให้สำเร็จลุล่วง”
และแม้ตลอดการนำเสนอนโยบายและผลงานครั้งนี้ ผู้นำสหรัฐฯ พูดถึง “การร่วมมือกัน” เป็นระยะ ๆ ปธน.ไบเดน ก็อดเหน็บพรรครีพับลิกันบ้างไม่ได้ เช่น เมื่อตอนที่พูดถึงกรณีที่บางคนออกโรงต่อต้านกฎหมายส่งเสริมปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจ หรือ Infrastructure and Investment Act แต่กลับมาแสดงความยินดีเมื่อมีการจัดสรรงบเข้าพื้นที่ของตน ด้วยการกล่าวว่า “ไม่ต้องห่วง ... ผมขอสัญญาว่า จะเป็นประธานาธิบดีของชาวอเมริกันทุกคน เราจะให้งบกับโครงการเหล่านี้ แล้วพบกันที่พิธีเปิดหน้าดิน (groundbreaking) นะ”
และมีอยู่ช่วงหนึ่งที่ไบเดนกล่าวหาฝั่งรีพับลิกันว่า พยายามตัดสวัสดิการประกันสังคม (Social Security) และโครงการประกันสุขภาพของผู้สูงอายุ (Medicare) ซึ่งทำให้มีเสียงตะโกนขึ้นมาจากสมาชิกพรรครีพับลิกันที่วิจารณ์ผู้นำสหรัฐฯ มาตลอดว่า “คนโกหก”
ในเรื่องนี้ ไบเดน พูดนอกสคริปต์และตอบโต้พร้อมรอยยิ้มมุมปากว่า “ใครก็ตามที่สงสัย เชิญติดต่อมาทำสำนักงานของผมได้ ผมจะให้ดูสำเนาข้อเสนอ(ที่ว่านี้)” ซึ่งการโต้กลับนี้ทำให้หลายคนคิดว่า กำลังชมการโต้วาที ไม่ใช่การนำเสนอนโยบายและผลงานอยู่
และเมื่อกำหนดการ State of the Union เสร็จสิ้นลง คำถามที่หลายคนรอฟังว่า ไบเดนจะลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีสมัยที่ 2 หรือไม่ ก็ยังไม่มีความชัดเจนออกมา แม้ว่า ผู้นำสหรัฐฯ จะสัญญาไว้ตั้งแต่เมื่อต้นปีว่า จะประกาศการตัดสินใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ไม่ช้าก็เร็วก็ตาม
แพทริก กาสปาร์ด อดีตผู้อำนวยการฝ่ายการเมืองของทำเนียบขาวและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของคณะกรรมการแห่งชาติพรรคเดโมแครต (Democratic National Committee - DNC) ให้ความเห็นว่า “จนกว่าจะถึงเวลาที่เขา (ไบเดน) ประกาศออกมา นั่นจะยังคงเป็นคำถามที่รอความกระจ่างทุกครั้งที่เขาเอ่ยปาก”
กาสปาร์ด กล่าวด้วยว่า งานแถลงนโยบายและผลงานประจำปีนั้น “มักถูกใช้เป็นโอกาสในการเปิดฉากเสนอตัวลงสมัครรับเลือกตั้งอีกครั้ง” และครั้งนี้ ก็ไม่แตกต่างจากที่เคยเป็นมา
ตั้งแต่อดีต ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เกือบทุกคนเดินหน้าลองลงสมัครรับเลือกตั้งอีกสมัยเสมอ และมีเพียงไม่กี่คนที่ไม่ทำเช่นนั้น โดยคนสุดท้ายที่ตัดสินใจไม่ลงสมัครก็คือ อดีตประธานาธิบดีลินดอน จอห์นสัน ในปี ค.ศ. 1968
ถึงกระนั้น สหรัฐฯ ไม่เคยมีประธานาธิบดีที่สูงวัยเท่ากับผู้นำคนปัจจุบันมาก่อน และถ้าหากไบเดนเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 2 เขาก็จะมีอายุถึง 86 ปีเมื่อหมดวาระลง
ไบเดนเองยอมรับในประเด็นนี้ โดยระบุในการกล่าวสุนทรพจน์เมื่อคืนวันอังคารว่า “ผมไม่ได้เป็นหน้าใหม่เลย... ผมมายืนอยู่ในคืนนี้ หลังรับใช้(ประชาชน)มานานพอ ๆ กับหลาย ๆ คนในที่นี้”
ลินซีย์ เชอร์วินสกี นักประวัติศาสตร์ด้านประธานาธิบดี กล่าวว่า อายุของไบเดน เป็น “ปัจจัยที่ไม่สามารถคาดหมายได้” (X Factor) ที่ทำให้ผู้นำคนปัจจุบันแตกต่างจากประธานาธิบดีคนก่อน ๆ เพราะในอดีตนั้น แม้ประธานาธิบดีที่ประสบภาวะความนิยมตกต่ำในสมัยแรก ก็ยังไม่เคยมีคนบอกว่า ไม่ควรลงสมัครในสมัยที่ 2 เลย พร้อมระบุว่า “ถ้าเขา(ไบเดน) อายุน้อยกว่านี้สัก 10 ปี จะไม่มีใครพูดเรื่องนี้(อายุ)เลย”
เมื่อย้อนกลับไปดูสิ่งที่ไบเดนนำเสนอในการแถลงเมื่อคืนที่ผ่านมา คำใบ้เกี่ยวกับความตั้งใจว่า จะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 2 หรือไม่ น่าจะอยู่ที่ประโยคที่สื่อความต้องการที่จะ “ทำงานให้เสร็จสิ้น” (finish the job) ซึ่งปธน.สหรัฐฯ กล่าวย้ำหลายสิบครั้ง เพื่อยืนยันความตั้งใจที่จะดำเนินแผนงานต่าง ๆ เช่น การปรับขึ้นภาษีสำหรับอภิมหาเศรษฐี การป้องกันการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือการลดราคาอินซูลิน โดยทั้งหมดนี้เป็นเหมือนการร้องขอแบบเป็นนัย ๆ ให้กับผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งเลือกตนต่อไป
และแม้ว่า ในความเป็นจริง ปธน.ไบเดน จะผลักดันแผนงานและนโยบายต่าง ๆ ที่ถือว่าทำสำเร็จได้หลายอย่าง เช่น โครงการปรับปรุงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั่วประเทศ การสนับสนุนอุตสาหกรรมผลิตชิปคอมพิวเตอร์ และการออกมาตรการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสะอาดเพื่อต่อสู้กับปัญหาสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ความจริงก็คือ ผู้นำสหรัฐฯ คนปัจจุบันยังเผชิญกับความกังขาไม่น้อยจากประชาชนจำนวนมากของประเทศ
ผลสำรวจโดย AP-NORC Center for Public Affairs Research ที่ออกมาเมื่อเร็ว ๆ นี้ ชี้ว่า สมาชิกพรรคเดโมแครตเพียง 37% เท่านั้นที่ต้องการเห็นไบเดนลงสมัครอีกครั้ง เทียบกับตัวเลข 52% ในการสำรวจก่อนการเลือกตั้งกลางเทอมเมื่อเดือนพฤศจิกายนของปีที่แล้ว
นอกจากนั้น ชัยชนะของพรรคเดโมแครตในการเลือกตั้งครั้งนั้นกลับไม่ได้สะท้อนออกมาเป็นภาพความสำเร็จในสายตาชาวอเมริกันหลายคน
การสำรวจความคิดเห็นประชาชนครั้งใหม่โดย Washington Post-ABC News ระบุว่า ชาวอเมริกัน 36% เชื่อว่า ไบเดนประสบความสำเร็จ “อย่างมาก” นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง ขณะที่ 62% บอกว่า ผู้นำสหรัฐฯ “ยังทำงานไม่มากพอ” หรือ “แทบจะหรือไม่ได้ทำอะไรเลย”
อย่างไรก็ตาม เซดริก ริชมอนด์ อดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงของทำเนียบขาวและปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาอาวุโสของ DNC บอกว่า ตนไม่ได้กังวลเกี่ยวกับตัวเลขผลสำรวจที่ว่านี้เลย และระบุว่า “เมื่อคุณเริ่มออกหาเสียง และคุรจะต้องใช้เงินมากมายเหมือนกับที่แผนหาเสียงสมัยนี้ใช้ ผู้คนก็จะรู้สึกท่วมท้น” ไปกับข้อมูลเตือนใจมากมายเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงที่ไบเดนได้ทำมาตลอดการทำหน้าที่ผู้นำรัฐบาลเอง
ริชมอนด์ กล่าวเสริมว่า ในเวลานี้ “ผู้คนมัวแต่ยุ่งเรื่องชีวิตของตนเองมากกว่าความเห็นทางการเมืองและผลสำรวจและเรื่องพวกนั้น”
แต่ท้ายสุด เอพีตั้งคำถามว่า สุนทรพจน์ล่าสุดของไบเดนจะช่วยจูงใจผู้มีสิทธิ์ใช้เสียงให้มาสนใจตนได้หรือไม่ และทำให้คนเหล่านั้นมองประเทศของตนแบบเดียวกับตนได้หรือไม่
- ที่มา: เอพี