ถึงแม้ว่าสถิติการคุกคามทางวาจา การใช้ความรุนแรงและการทำร้ายร่างกายผู้มีเชื้อสายเอเชียในสหรัฐฯ จะพุ่งสูงขึ้น และได้รับความสนใจเป็นพิเศษหลังเกิดการระบาดใหญ่ของโควิด-19 แต่แท้ที่จริงแล้ว การเลือกปฏิบัติและการเหยียดเชื้อชาติที่มุ่งเป้าไปที่คนเอเชีย ไม่ว่าในรูปแบบใดก็ตาม มีประวัติมาอย่างยาวนานในสังคมอเมริกัน
Amanda Phingbhodipakkiya ศิลปินอเมริกันเชื้อสายไทย เจ้าของงานศิลปะต่อต้านการใช้ความรุนแรงต่อเอเชียนอเมริกัน ที่ได้รับการจัดแสดงทั่วมหานครนิวยอร์ก เล่าว่าเธอเป็นผู้หนึ่งที่ได้เผชิญเหตุการณ์เหล่านั้นด้วยตนเอง
"ฉันเติบโตมาในเมือง (นอร์ครอส รัฐแอตแลนตา) ที่ส่วนใหญ่มีแต่คนขาว ไม่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ ฉันมักจะเป็นคนเชื้อสายเอเชียคนเดียวในห้องเรียน ฉันเข้าใจดีถึงความโดดเดี่ยวของการเติบโตมาแบบนั้น และฉันก็รู็ว่ามันเจ็บปวดเพียงใดที่ต้องรู้สึกโดดเดี่ยว ไม่มีใครเข้าใจ และต้องทนกับการกระทำที่ทำร้ายจิตใจวันแล้ววันเล่า” อแมนดากล่าวกับวีโอเอไทย
คุณพ่อชาวไทยและคุณแม่ชาวอินโดนีเซียของอแมนดาทำธุรกิจร้านอาหารไทยในแอตแลนตา แต่พวกเขาไม่เคยเล่าให้เธอฟังว่าพวกเขาถูกเลือกปฏิบัติหรือไม่ ซึ่งอแมนดาเล่าว่านั่นไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะได้รับการปฏิบัติอย่างดี เธอมองว่าพ่อแม่ของเธอมีลักษณะของผู้อพยพรุ่นแรก ที่มักจะเร่งสร้างเนื้อสร้างตัว พยายามไม่เรียกร้อง ไม่สร้างปัญหาให้ใคร
"ฉันคิดว่าความเจ็บปวดอย่างหนึ่งของลูกหลานผู้อพยพ คือการที่บางครั้งได้เห็นพ่อแม่ของเราถูกปฏิบัติด้วยราวกับพวกเขาเป็นเด็ก โดยคนที่คิดเอาว่าพวกท่านไม่พูดภาษาอังกฤษ แม่ของฉันพูดภาษาอังกฤษได้ดีมาก แต่หลาย ๆ ครั้งครูที่โรงเรียนฉันจะพูดกับแม่ราวกับแม่เป็นเด็กห้าขวบ"
"แม้กระทั่งล่าสุดนี้ ตอนพ่อกับแม่ไปร้านขายของชำ พวกเขาก็ถูกตะคอกใส่ให้กลับไปบ้านเกิด แล้วยังถูกหาว่าเป็นพาหะนำเอา 'ไวรัสจีน' มาอีกด้วย"
ก่อนหน้านี้ งานส่วนใหญ่ของอแมนดา ซึ่งเป็นอดีตนักศึกษาประสาทวิทยา จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ในนิวยอร์ก เป็นการนำเอาศิลปะหลายแขนงเพื่อถ่ายทอดความอัศจรรย์ของวิทยาศาสตร์ เธอได้รับเลือกให้พูดบนเวที TEDTalk เรื่องการผสมผสานวิทยาศาสตร์เข้ากับศิลปะ ผลงานชุด The Leading Strand เป็นการจับคู่ดีไซน์เนอร์และนักวิทยาศาสตร์สาขาต่าง ๆ มาทำงานร่วมกัน ส่วนงานทัศนศิลป์ชุดบียอนด์ คูรี่ Beyond Curie เป็นการเฉลิมฉลองความสำเร็จของผู้หญิงในสาขาวิทยาศาสตร์ วิศวกรรม คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี
ล่าสุด เธอยังได้รับเลือกให้วาดภาพฝาผนังในหลายเมืองทั่วอเมริกา รวมทั้งกรุงวอชิงตัน ซึ่งเป็นภาพของนักวิทยาศาสตร์หญิง การค้นพบและความสำเร็จของพวกเธอ
"ฉันคิดว่าก่อนหน้านี้ฉันลังเลที่จะนำเอาเรื่องราวส่วนตัว หรือเรื่องเกี่ยวกับตัวเองมาไว้ในงานศิลปะที่ปรากฎสู่สายตาสาธารณชน มันมีความเสี่ยง แล้วก็ต้องใช้ความกล้าหาญมาก ๆ แต่ฉันเพิ่งได้เห็นว่างานที่มาจากเรื่องส่วนตัวนั้นมีพลังมาก ๆ และบางครั้งเรื่องที่มาจากก้นบึ้งของจิตใจ มาจากความรู้สึกลึก ๆ สามารถทำให้คนอื่นซาบซึ้ง ดื่มด่ำได้มากด้วยเช่นกัน"
อแมนดาตั้งใจว่าเธอจะใช้โอกาสและพื้นที่ที่เธอมี เรียกร้องและเคลื่อนไหวเพื่อคนเชื้อสายเอเชียให้มากที่สุด เพื่อจะช่วยเยียวยาความเจ็บปวดของการเป็นคนที่มักจะถูกมองข้าม หรือถูกมองว่าเป็นคนไม่มีตัวตนในสังคมอเมริกัน
“ฉันหวังว่าคนเอเชียนอเมริกัน หรือจะว่าไปคนเชื้อสายเอเชียทุกหนทุกแห่ง จะได้เห็นงานชิ้นนี้ แล้วสัมผัสถึงความสงบ ความภาคภูมิใจในความไม่ยอมจำนนของคนเอเชีย และพลังของพวกเรา ฉันภูมิใจที่เป็นเอเชียนอเมริกัน และฉันก็หวังว่าเอเชียนอเมริกันคนอื่น ๆ จะรู้สึกดีขึ้น เพราะที่ผ่านมาเป็นช่วงเวลาที่หนักหนามากสำหรับพวกเรา...เราสมควรจะได้มีช่วงเวลาที่ได้รำลึกว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของสังคมนี้ เรามีพื้นที่สำหรับเรื่องราวของเรา”