ในช่วงที่สงครามในยูเครนซึ่งใกล้จะครบรอบ 1 ปีในไม่กี่วันนี้ และการสู้รบในจุดต่าง ๆ ก็ยังดำเนินอยู่ ประชาชนชาวยูเครนส่วนใหญ่ที่ต่อต้านการรุกรานของรัสเซียและพยายามใช้ชีวิตให้เหมือนปกติท่ามกลางการโจมตีอย่างต่อเนื่องยังคงมั่นใจว่า ทุกอย่างจะจบลงด้วยชัยชนะของกองทัพกรุงเคียฟและประชาชน
ทาเทียนา โคโปรวิชซ์ บรรณาธิการบริหารของ วีโอเอ ภาคภาษายูเครน และเป็นชาวยูเครนคนหนึ่ง เล่าให้ฟังว่า การติดตามทำรายงานข่าวสงครามนี้ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาเป็นความท้าทายอย่างมากสำหรับทั้งผู้ที่อยู่ในพื้นที่และผู้ที่ทำงานร่วมกันจากที่กรุงวอชิงตัน
โคโปรวิชซ์ อธิบายว่า “เมื่อเราส่งคนไปทำรายงานชิ้นหนึ่ง เราต้องพิจารณาดูว่า มีอันตรายมากเพียงใดด้วย … โชคดีที่ไม่เกิดอะไรขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผู้สื่อข่าวของเรา หรือผู้ที่เราทำงานด้วย ไม่เคยตกอยู่ในอันตราย … แต่ความน่าจะเป็นนั้นก็ยังมีอยู่ เพราะนี้เป็นสงครามครั้งใหญ่ที่สุด ตั้งแต่สงครามโลกที่ 2 สิ้นสุดลง ดังนั้น จึงมีอันตรายอยู่ทุกที่”
เธอยังเล่าด้วยว่า ในช่วงแรกที่เรื่องนี้เกิดขึ้น หลายคนรอบ ๆ ตัวเธอประสบปัญหานอนไม่ค่อยหลับ ขณะที่ ตัวเธอเองคอยติดตามสถานการณ์แทบจะรายชั่วโมง เพราะคุณพ่อคุณแม่ของเธอยังอยู่ที่กรุงเคียฟในตอนนั้น ก่อนที่จะเดินทางฝ่าอันตรายหลบภัยมาถึงสหรัฐฯ ได้ แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจกลับไปยูเครนในเดือนกรกฎาคมของปีที่แล้ว
สำหรับประเด็นนี้ โคโปรวิชซ์ ชี้ว่า เป็นการแสดงให้เห็นว่า แม้จะมีศึกสงครามดำเนินอยู่ ชาวยูเครนยังคงพยายามใช้ชีวิตให้เหมือนปกติที่สุดให้ได้อยู่ดี
เธอกล่าวว่า “ผู้ที่ได้ชมภาพข่าววิดีโอต่าง ๆ อาจไม่รู้เลยว่า ยูเครนเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่ และรัสเซียก็ยิงจรวดเข้าถล่มทุก ๆ 2-3 สัปดาห์ หรือถี่กว่านั้นในบางครั้ง ... แต่พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศนั้น การใช้ชีวิตของผู้คนเกือบเหมือนปกติ คือ เกือบเหมือนปกติแล้ว เช่น ถ้าคุณอยู่ในลวิฟ หรือ เคียฟ”
ถึงกระนั้น โคโปรวิชซ์ กล่าวว่า ชีวิตของผู้ที่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของกองทัพรัสเซีย คือ สภาพการณ์ที่น่ากลัวอย่างที่มีรายงานข่าวมา และว่า “เมื่อเราได้คุยกับผู้คนที่มาจากแนวหน้า โดยเฉพาะกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ภายใต้การยึดครองของรัสเซีย เรื่องราวของพวกเขานั้นน่ากลัวอย่างที่สุด เหมือนอย่างที่คุณได้เห็นจากวิดีโอต่าง ๆ ... คือ ในทุก ๆ เมืองที่ได้รับการปลดปล่อยเป็นอิสระ เมื่อคุณได้ไปที่นั่น คุณจะได้ยินเรื่องราวอันน่ากลัวทั้งหลายที่เคยเกิดขึ้น
นี่เป็นกรณีของประเทศอันมีชีวิตชีวาแห่งหนี่งในยุโรป ที่เกิดเรื่องสยองน่ากลัวเหมือนในยุคกลาง และผู้คนต้องคอยหลบซ่อนอยู่ในชั้นใต้ดินเป็นเวลาหลายเดือน โดยไม่มีน้ำดื่ม ต้องอาศัยอยู่ในอพาร์ตเมนต์อันหนาวเหน็บ อะไรทำนองนั้น”
เมื่อถามที่ความสัมพันธ์ระหว่างชาวยูเครนและชาวรัสเซียก่อนที่จะเกิดการรุกรานขึ้นเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ของปีที่แล้ว บรรณาธิการบริหารของ วีโอเอ ภาคภาษายูเครน อธิบายว่า คนในยูเครนนั้นมีทั้งกลุ่มที่พูดภาษายูเครนและภาษารัสเซีย แต่ทุกคนก็ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันมาได้ตลอด ขณะที่ คนในยูเครนและคนในรัสเซียนั้น มีมุมมองต่อกันที่ต่างกันไป แล้วแต่ช่วงเวลา
เธออธิบายว่า “ถ้าเราลองดูตัวเลขย้อนกลับไปเมื่อปี 2008 หรือ 2010 กว่า 90% ของคนยูเครนมองคนรัสเซียในแง่บวก แต่ตัวเลขนี้ลดลงในปี 2014 ก่อนจะกลับมาเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ อีกครั้ง ... และก่อนเกิดเหตุความขัดแย้ง (สงคราม) คนจำนวน 34% ในยูเครน มองรัสเซียในแง่บวก ตอนนี้ ... ตัวเลขหดตัวเหลือเพียง 2% เท่านั้น” และว่า “แต่ในรัสเซีย ตัวเลขจะแตกต่างกันมาก... คือพวกเขาได้รับอิทธิพลอย่างมากจากแผนโฆษณาชวนเชื่อพร่ำบอกพวกเขา พวกเขาอาจเชื่อว่า รัสเซียมายูเครนเพื่อช่วยชาวยูเครน ดังนั้น พวกเขาอาจสนับสนุนสงคราม และมองชาวยูเครนในแง่บวกไปพร้อม ๆ กันได้ ซึ่งในสายตาคนยูเครนแล้ว เรื่องนี้เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ยากมาก”
เมื่อพูดถึงชาวยูเครนที่สนับสนุนกองทัพรัสเซีย โคโปรวิชซ์ ยอมรับว่า “แน่นอนค่ะ มีคนบางกลุ่ม ราว 2% ที่อยู่ในพื้นที่ที่ถูก(รัสเซีย)ยึดครอง พวกที่ยอมร่วมมือ(กับรัสเซีย) ก็จะทำงานกับพวกรัสเซีย คือ พวกเขาเห็นโอกาสที่จะหาประโยชน์ให้ตัวเอง แต่ก็เป็นส่วนที่น้อยมาก ๆ”
และขณะที่เน้นย้ำว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องของความขัดแย้งทางเชื้อชาติ โคโปรวิชซ์ บอกว่า ผู้เชี่ยวชาญหลายคนมีความเห็นคล้าย ๆ กันว่า ต้นเหตุของสงครามนี้คือ การที่ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินต้องการอยู่ในอำนาจต่อไปตราบนานเท่านาน โดยไม่ได้คาดคิดมาก่อนว่า จะพบกับการต่อต้านอย่างหนักจากชาวยูเครน
เธออธิบายว่า “เขา(ปูติน) คาดเพียงว่า จะได้ชัยชนะอย่างรวดเร็ว และกระตุ้นกระแสความนิยมในตัวเขาได้ ก่อนจะไปทำอย่างอื่นต่อ … แต่ทั้งหมดนี้นั้นหนุนนำด้วยความเข้าใจคลาดเคลื่อน ผิดหลักเหตุผล และล้มเหลวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ระหว่างรัสเซียและยูเครน และปูติน เคยเขียนบทความออกมาเมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2021 เกี่ยวกับรากฐานร่วมกันของประชาชนชาวรัสเซียและยูเครน ด้วยการปฏิเสธว่า ยูเครนไม่ใช่ประเทศ ... ในบทความที่ปูตินเขียนนั้น เขาเชื่ออย่างเต็มเปี่ยมว่า เขามีสิทธิ์ตามประวัติศาสตร์ ที่จะรุกรานยูเครน และทำให้ยูเครนเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย”
แต่แม้สงครามนี้จะลากยาวมาถึงปีแล้ว ชาวยูเครนจำนวนไม่น้อยยังเชื่อว่า กองทัพกรุงเคียฟจะเป็นฝ่ายมีชัยเหนือรัสเซีย
“คนยูเครนจำนวนมากค่อนข้างมองโลกในแง่ดี พวกเขาเชื่อว่า ยูเครนจะเป็นฝ่ายชนะสงคราม คือ ดิฉันจำตัวเลขไม่ได้ แค่จำได้ว่า สูงมาก ๆ ... พวกเขาเชื่อว่า พวกเขาจะชนะสงคราม และพวกเขาเชื่อว่า พวกเขาจะฟื้นฟูและสร้างประเทศขึ้นมาใหม่ ... พวกเขาเห็นแรงสนับสนุนจากนานาชาติ พวกเขาเห็นหรือมีศรัทธาในตัวเอง มองตัวเองว่า เป็นประเทศที่มีความสำคัญประเทศหนึ่ง พวกเขามองว่า การที่ยูเครนสามารถต้านการยึดครองและการรุกรานของรัสเซียได้ ทำให้พวกเขามีศรัทธาว่า พวกเขาจะสามารถช่วยกันสร้างประเทศให้ดีขึ้นได้” โคโปรวิชซ์ ระบุระหว่างพูดคุยกับ วีโอเอไทย
บรรณาธิการบริหารของ วีโอเอ ภาคภาษายูเครน ยังกล่าวเสริมด้วยว่า นอกจากการรอคอยให้สงครามสิ้นสุดลง สิ่งที่ชาวยูเครนต้องการก็คือ การได้เห็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังความขัดแย้งนี้ได้รับการลงโทษและหวังที่จะเห็นหนทางที่จะทำให้ทุกฝ่ายแน่ใจว่า ประวัติศาสตร์จะไม่เกิดซ้ำรอยอีกในอนาคต
และเมื่อถามที่รูปการณ์ในอนาคตหลังสงครามนี้สิ้นสุดลง โคโปรวิชซ์ มีคำถามเกี่ยวกับผลกระทบของการอพยพหนีภัยออกนอกประเทศของชาวยูเครน ต่อสภาพสังคมในประเทศที่ยังไม่แน่นอนอยู่ โดยกล่าวว่า “ในเวลานี้ มีผู้อพยพลี้ภัยชาวยูเครนในยุโรปที่มีการลงทะเบียนไว้ราว 8 ล้านคน ... และถ้าเรามองดูที่ประชากรผู้อพยพลี้ภัย ส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดเป็นผู้หญิง และมีเด็ก ๆ จำนวนมาก คือ โดยเฉลี่ยตามสถิติแล้ว ส่วนใหญ่ของผู้อพยพลี้ภัยนั้นเป็นผู้หญิงที่มีอายุในช่วง 30-40 ปีเศษ โดยเฉลี่ยแล้ว ส่วนใหญ่มีการศึกษาสูง คือ ราว 77 % … กล่าวคือ นี่คือ กลุ่มประชากรหญิงที่มีการศึกษามากที่สุดที่สามารถกลับมาประเทศเพื่อช่วยฟื้นฟูและสร้างประเทศใหม่ได้อย่างรวดเร็ว
คำถามก็คือ ถ้าสงครามยุติลง ผู้หญิงเหล่านี้จะกลับมาไหม หรือพวกผู้ชายจะเดินทางไปหาผู้หญิงกลุ่มนี้ไหม หรือบางที อาจมีกรณีการหย่าร้าง”
- ที่มา: วีโอเอ