ในเวทีประชุม COP26 ของสหประชาชาติ ที่เมืองกลาสโกว์ ของสกอตแลนด์ ที่ผู้นำโลก ผู้เชี่ยวชาญด้านปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศผิดธรรมชาติ และนักเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อม ร่วมกันหารือเพื่อกำหนดมาตรการใหม่ๆ ในการต่อสู้รับมือกับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน และคาดว่าเทคโนโลยีจะก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญในการช่วยให้ทั่วโลกบรรลุเป้าหมายเรื่องโลกร้อนได้ในอนาคต ซึ่งรวมถึง 5 เทคโนโลยีที่น่าสนใจนี้ด้วย
เทคโนโลยีการหลอมรวมตัวของอะตอม หรือ ฟิวชั่น
ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า ฟิวชั่น หรือ การหลอมรวมตัวของอะตอมเพื่อสร้างพลังงาน อาจเป็นเทคโนโลยีผลิตพลังงานเพื่อใช้ในบ้านเรือนได้ในอนาคต แต่ปัญหาหนึ่ง คือ กระบวนการดังกล่าวต้องอาศัยพลังงานจำนวนมหาศาล ซึ่งผู้พัฒนาเทคโนโลยีนี้ยังไม่สามารถผลิตพลังงานจากการฟิวชั่นมากกว่าพลังงานที่ต้องใช้ในการผลิตได้ อีกทั้งการสร้างโรงไฟฟ้าด้วยเทคโนโลยีนี้ต้องมีแหล่งกักเก็บความร้อนที่เหมาะสม
แต่ถึงกระนั้น นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Oxford University ของอังกฤษ และสถาบันเทคโนโลยีรัฐแมสซาชูเสตต์ (MIT) ของสหรัฐฯ ต่างระบุว่าพวกเขามีความก้าวหน้าในการพัฒนาเทคโนโลยีนี้ไปมาก และรัฐบาลอังกฤษเชื่อว่าการผลิตพลังงานด้วยเทคโนโลยีฟิวชั่นจะเกิดขึ้นได้ภายในปี ค.ศ. 2040
เทคโนโลยีนิวเคลียร์ขั้นสูง
โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์จากเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์กำลังชั้นสูง จะมีขนาดเล็กกว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ยุคปัจจุบัน ผู้เชี่ยวชาญเห็นว่าโรงไฟฟ้ารูปแบบดังกล่าวจะสามารถจัดตั้งได้ในเขตชนบทและทุรกันดาร และสามารถช่วยเสริมโรงไฟฟ้าพลังลมและพลังงานแสงอาทิตย์ได้
อย่างไรก็ตาม เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์กำลังชั้นสูง มีต้นทุนสูงและมีความซับซ้อนในการสร้าง ฝ่ายที่คัดค้านมองว่าเทคโนโลยีนี้สร้างกากกัมมันตรังสีในปริมาณมาก ขณะที่เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์กำลังชั้นสูงจะพึ่งพาแร่ยูเรเนียม ที่ได้รับการเสริมคุณภาพมากกว่าเชื้อเพลิงที่ใช้ในโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในปัจจุบัน และนั่นอาจทำให้เครื่องปฏิกรณ์แบบนี้สุ่มเสี่ยงต่อการถูกนำไปใช้เพื่อผลิตอาวุธโดยกองกำลังต่างๆ ได้
ในสหรัฐฯ บิล เกตส์ ผู้ก่อตั้งไมโครซอฟต์ระบุว่า เขามีเป้าหมายจะสร้างเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่ใช้เทคโนโลยีกำลังชั้นสูงซึ่งมีค่าใช้จ่ายเครื่องละราว 1 พันล้านดอลลาร์ และเรียกร้องให้เดินเครื่องโรงไฟฟ้าชนิดนี้ภายในปี ค.ศ. 2030 ขณะที่จีน รัสเซีย และญี่ปุ่น ก็กำลังเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวอยู่เช่นกัน
เทคโนโลยีการกักเก็บคาร์บอน
เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา บริษัทสัญชาติสวิตเซอร์แลนด์ได้เปิดตัวโรงงานกักเก็บคาร์บอนที่ใหญ่ที่สุดในไอซ์แลนด์ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศโดยตรงและดึงก๊าซคาร์บอนจากอากาศมากักเก็บใต้ดิน
ตอนนี้ทั่วโลกมีโรงงานกักเก็บคาร์บอนจากอากาศราว 15 โรงงานที่เริ่มปฏิบัติการอยู่ และทางสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ประเมินว่า โรงงานเหล่านี้จะสามารถกักเก็บก๊าซคาร์บอนได้มากกว่า 9,000 เมตริกตันต่อปี ซึ่งอาจดูเหมือนเป็นปริมาณที่มาก แต่นั่นเท่ากับปริมาณก๊าซคาร์บอนที่รถยนต์ 2,000 คันผลิตได้ในช่วงเวลา 1 ปีเท่านั้น
ปัจจุบัน เทคโนโลยีกักเก็บคาร์บอนยังมีต้นทุนสูงในระดับ 600 ดอลลาร์ต่อปริมาณคาร์บอน 1 เมตริกตันที่กักเก็บได้ แต่ผู้สนับสนุนเทคโนโลยีนี้มองว่าต้นทุนจะปรับลดลงหากมีการพัฒนามากขึ้นในอนาคต และสหรัฐฯ รวมถึงอีกหลายประเทศทั่วโลก ควรมีมาตรการสนับสนุนด้านภาษีให้กับธุรกิจที่ลงทุนในเทคโนโลยีดังกล่าว ส่วนฝ่ายที่คัดค้านการกักเก็บคาร์บอน ซึ่งรวมถึงกลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อม Sierra Club มองว่า การให้เครดิตภาษีจะยิ่งทำให้โรงงานต่างๆ พากันใช้พลังงานฟอสซิลกันมากขึ้นไปอีก
ไฮโดรเจน
ไฮโดรเจนสามารถใช้ผสมเข้ากับก๊าซธรรมชาติ เพื่อผลิตเชื้อเพลิงพลังงานสะอาดมากขึ้นและเป็นเชื้อเพลิงที่ใช้กับรถยนต์ได้ โดยเทคโนโลยีที่เรียกว่า clean hydrogen นี้สามารถผลิตได้โดยใช้พลังงานลมและแสงอาทิตย์ แต่จะมีต้นทุนสูงกว่าการผลิต grey hydrogen ที่ต้องใช้พลังงานฟอสซิลแบบดั้งเดิม
แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่จะผลิตสิ่งที่เรียกว่า blue hydrogen จากโรงงานก๊าซธรรมชาติที่กักเก็บคาร์บอนไว้ได้ แต่นักวิทยาศาสตร์ มองว่า กระบวนการดังกล่าวจะยิ่งไปปล่อยก๊าซมีเทน ซึ่งทำให้เทคโนโลยีนี้ไม่ได้สะอาดไปกว่าการใช้ก๊าซธรรมชาติเพียงอย่างเดียว
ตอนนี้ ซาอุดิอาระเบีย ผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ที่สุดในโลก มีแผนที่จะสร้างโรงงานผลิต clean hydrogen ด้วยงบประมาณ 5,000 ล้านดอลลาร์แล้ว
พลังงานความร้อนใต้พิภพ
โรงไฟฟ้าจากพลังงานความร้อนใต้พิภพ (Geothermal power plant) อาศัยความร้อนที่สูงถึง 370 องศาเซลเซียสใต้พื้นผิวโลก และความร้อนนี้จะสร้างไอน้ำที่สามารถเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าได้อีกทอดหนึ่ง
สหรัฐฯ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเคนยา เป็นประเทศชั้นนำของโลกในด้านการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากความร้อนใต้พิภพ แต่เทคโนโลยีดังกล่าวต้องมีเพิ่มขึ้นกว่านี้อีกมากกว่าจะมาใช้ทดแทนพลังงานฟอสซิลได้
ผู้เชี่ยวชาญประเมินว่า สหรัฐฯ จะสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานความร้อนใต้พิภพ ได้ราว 10% ของความต้องการพลังงานในประเทศ แต่ต้นทุนการสร้างโรงงานชนิดนี้ถือว่าสูงมาก ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนขนาดใหญ่ในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่ประเทศที่มีพลังงานฟอสซิลอยู่น้อย รวมถึงญี่ปุ่น และสิงคโปร์ กำลังมองหาทางเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีชนิดนี้อยู่เช่นกัน